รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2009 10:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ต.ค. 2552

Summary:

1. นายกรัฐมนตรีห่วงลงทุนภาคเกษตรหลังเปิดเสรีอาเซียน

2. นักเศรษฐศาสตร์เชื่ออาเซียนบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจ

3. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวแล้ว

Highlight:
1. นายกรัฐมนตรีห่วงลงทุนภาคเกษตรหลังเปิดเสรีอาเซียน
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับตัวของภาคเอกชนไทยและการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรบางส่วนซึ่งประเทศไทยมีพันธะจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้กรอบ AFTA ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการเปิดเสรีภาคการเกษตรจะต้องมีข้อสงวนหรือมีนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถสงวนได้ตามกฎของการเปิดเสรี อาจมีการเสนอวิธีการช่วยเหลือเกษตกรในแนวทางอื่นแทน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยมีสัดส่วนคนงานคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของกำลังแรงงานรวมแต่ปรากฏว่าภาคการเกษตรมีสัดส่วนใน GDP เพียงร้อยละ 8.9 ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเกษตรของไทย โดยได้ริเริ่มโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ที่ได้มีการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อพัฒนาภาคเกษตรแล้วกว่า 59,273.26 ล้านบาท เช่น งบประมาณในการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 20,232.92 ล้านบาท การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 8,652.84 ล้านบาท และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน 17,224.90 ล้านบาท เป็นต้น
2. นักเศรษฐศาสตร์เชื่ออาเซียนบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจ
  • ศูนย์วิจัยม.กรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผย ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จาก 17 องค์กรชั้นนำของไทย เรื่อง “โอกาสและความพร้อมของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 75.0 เชื่อว่ากองทุนริเริ่มเชียงใหม่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและร้อยละ 69.7 เชื่อว่าอาเซียนจะบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อันจะส่งผลให้สินค้าของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กองทุนริเริ่มเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินสามารถมีแหล่งเงินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหารขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะสามารถดำเนินการในช่วงต้นปี 53 โดยประเทศสมาชิก ASEAN+3 ได้ตั้งกองทุนมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ เป้ามายของอาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2563 เพื่อมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวร่วมกัน (single market and single production base) โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี
3. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวแล้ว
  • นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวต่อผู้นำเอเชียในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นภาวะถดถอยแล้วจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ อัตราการว่างงานถือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากระดับรายได้มีผลกระทบต่อระดับอุปสงค์รวม ดังนั้นรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียยังจำเป็นต้องคงมาตรการกระตุ้นการบริโภคสินค้าภายในประเทศของตนเองและภายในภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดส่งออกในสหรัฐอเมริกาและเป็นการสร้างความสมดุลทางด้านการเติบโตของเอเชีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจในญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. ที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -30.7 ต่อปี (เดือน ส.ค. ที่ร้อยละ -36.0 ต่อปี) สืบเนื่องจากอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นจากประเทศในเอเชียได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประกอบกับตัวเลขดัชนี Business Survey ของอุตสาหกรรมหนักได้ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 15.5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 (ตัวเลขดัชนีติดลบที่ -13.2 ในไตรมาสที่ 2) และอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงในเดือน ก.ย. ที่ร้อยละ 5.5 (อัตราที่ร้อยละ 5.7 ในเดือน ส.ค.) ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยทำให้ภาคส่งออกสินค้าไทยไปยังญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น ซึ่งล่าสุดพบว่าการส่งออกในเดือน ก.ย. ได้หดตัวน้อยลงอยู่ที่ร้อยละ -19.3 ต่อปี (เดือน ส.ค. หดตัวร้อยละ -30.4 ต่อปี)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ