รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 29, 2009 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ต.ค. 2552

Summary:

1. ธปท. คาด NPL ในไตรมาส 4/2552 จะทรงตัวที่ร้อยละ 5.7 ของสินเชื่อรวม

2. นำเข้าแอลพีจีแตะระดับแสนตันรับอุตสาหกรรมฟื้น

3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นหดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี ในเดือนก.ย.52

Highlight:
1. ธปท. คาด NPL ในไตรมาส 4/2552 จะทรงตัวที่ร้อยละ 5.7 ของสินเชื่อรวม
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง ในไตรมาส 4/2552 จะทรงตัวที่ร้อยละ 5.7 ของสินเชื่อรวม จากไตรมาส 3 ซึ่งอยู่ที่ 3.87 แสนล้านบาท เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่ยังคงไม่มีการขยายตัวเพิ่ม ทั้งนี้ สินเชื่อทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท โดยในส่วนธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) มีการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 2.6 ล้านล้านบาท เป็น NPL ประมาณ 2.08 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราประมาณร้อยละ 8
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ NPL ทรงตัว มาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติ Lehman brother (ก.พ. — ส.ค. 52) ธพ. มีการเรียกคืนสินเชื่อเฉลี่ย 35,149 ล้านบาทต่อเดือน สะท้อนว่าบทบาทของธพ. ช่วงหลังวิกฤติการเงินโลกลดลง อย่างไรก็ดี สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19,143 ต่อเดือน สะท้อนว่านโยบายสินเชื่อ Fast Track ของภาครัฐ มีส่วนช่วยสนับสนุนให้บทบาทของ SFIs เพิ่มมากขึ้นและช่วยทดแทนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ลดลงอย่างมากได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทุก 300,000 ล้านบาทของสินเชื่อที่ปล่อยจะกระตุ้น GDP ได้ร้อยละ 0.3 ต่อปี
2. นำเข้าแอลพีจีแตะระดับแสนตันรับอุตสาหกรรมฟื้น
  • กรมธุรกิจพลังงาน เผยปริมาณนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ช่วงปลายปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพ.ย.52 ปตท. ระบุปริมาณการนำเข้าไว้ที่ 1 แสนตัน จากเดือนก่อนหน้าที่นำเข้าเฉลี่ยแค่ 6-8 หมื่นตันต่อเดือน สาเหตุสำคัญคือความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งลดกำลังการผลิตลง ทำให้ก๊าซหุงต้มไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้แอลพีจีที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจาก ภาคขนส่งตามที่เคยมีการตั้งข้อสังเกตไว้ แต่เกิดจากความต้องการใช้ในกลุ่มของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซแอลจีเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยเมื่อพิจารณาดัชนีอุตสาหกรรมในหมวดเคมีภัณฑ์ที่ขจัดผลทางฤดูกาลในไตรมาส 2 และ 3 พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 และ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ นับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยในเดือน ส.ค. และ ก.ย. อยู่ที่ 5.6 และ 5.3 หมื่นตัน ตามลำดับจึงไม่เป็นปัญหากับกองทุนพลังงานนัก
3. ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นหดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี ในเดือนก.ย.52
  • ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือนก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -1.4 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากภาคครัวเรือนที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและค่าจ้างที่ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือนก.ย. 52 หดตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ประหยัดพลังงาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นประกอบไปด้วยการบริโภคภาคเอกชนถึงร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้ หากการใช้จ่ายภาคเอกชนอ่อนแอ ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอ่อนแอตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือนก.ย.52 ที่หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี รวมถึงการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นในเดือนเดียวกันนั้น ที่หดตัวร้อยละ -19.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -30.4 ต่อปี ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปลายไตรมาส 3 นี้ โดยสศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ