รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 ตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2009 12:20 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลรวมทั้งปีงบประมาณ 52 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 1,917.1 พันล้านบาท โดยรายจ่ายประจำปีงบประมาณเบิกจ่ายได้จำนวน 1,790.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 91.8 ของกรอบวงเงิน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 94 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่งบประมาณเพิ่มเติมตามกรอบวงเงิน 1.167 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้จำนวน 94.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.3 ของกรอบวงเงิน สำหรับในปีงบประมาณ 53 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณประจำปีไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,015.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.7 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 30.8 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินและหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นจำนวน 19.8 11.9 และ 1.0 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ แผนการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ของรัฐบาล ในช่วงปี 53-55 จะทำให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 58.1 ของ GDP ณ สิ้นปี 55 และคาดว่ายอดหนี้สาธารณะจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 ภายในปี 61

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากปริมาณผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีอัตราการขยายตัวกลับมาเป็นบวก เช่น การผลิต Hard Disk Drive การกลั่นปิโตรเลียม การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และการผลิตเครื่องประดับ เป็นต้น สำหรับการผลิตยานยนต์มีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสูงขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปียังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.ย. 52 อยู่ที่ 1.04 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 17.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากฐานการคำนวณที่ต่ำในปีก่อน จากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้มีการประกาศใช้ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ กทม. ณ วันที่ 2 กันยายน 2551 ซึ่งทำให้หลายประเทศออกหนังสือเตือนนักท่องเที่ยว (Travel warning) ในการเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.ย.52 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อเดือนซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังจากที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยเผชิญปัญหาเชิงลบทั้งจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 52 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งจะนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังจากหดตัวติดต่อกันมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปี สาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณในปีที่ก่อนเริ่มลดต่ำลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงนั้นแต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง (%mom=0.0) โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำ มันสำเร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวลดลงร้อยละ -0.7 ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ขณะที่ราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ปอนด์ วอนและบาท

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินหลักยูโรและค่าเงินภูมิภาคแทบทุกสกุลเนื่องจากมีแรงการเข้าถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐและเยนซึ่งถูกมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า (Safe haven) เนื่องจากมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ อาทิ (1) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯที่ประกาศโดย Conference Board ในเดือน ต.ค. ที่ปรับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.7 จุด จากระดับ 53.4 จุดในเดือน ก.ย. และ (2) ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (New home sales) ของสหรัฐฯในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 402,000 หลังต่อปี ลดลงจากระดับ 429,000 หลังต่อปีในเดือน ส.ค.

อย่างไรก็ตาม การประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่วงหน้า (Advance) ประจำไตรมาสที่ 3 ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 30 ต.ค. ที่ที่ร้อยละ 3.5 จากไตรมาสก่อน (Q-o-Q annualized) ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ได้ส่งผลให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอันส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในวันศุกร์

ค่าเงินภูมิภาคในสัปดาห์นี้ล้วนปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯตามกระแส risk aversion ยกเว้นค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ ระดับ 7.9 วอน/ดอลลาร์สหรัฐหลังตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของเกาหลีใต้ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อไตรมาส (คาด 2.2%) ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดใน รอบ 7.5 ปีและเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3

ค่าเงินบาททรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.09 เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าแม้ว่าในสัปดาห์นี้จะมีแรงขายเงินทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติสุทธิประมาณ 2,900 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า คาดว่าจะมาจากปัจจัยทางด้านภาคเศรษฐกิจจริงของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบริการซึ่งจะสะท้อนได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวันวอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 30 ต.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.47 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.04 งินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 4.5) หยวน (ร้อยละ3.9) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 3.8) ดอลลาร์ฮ่องกง(ร้อยละ 3.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.9) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.6)ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 0.9) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -8.4) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -8.3) วอนเกาหลี (ร้อยละ -2.7) และยูโร (ร้อย -2.1) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 23 ต.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net Reserve) อยู่ที่ระดับ 151.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.03 พันล้านดอลลาร์ และForward Obligation จำนวน 0.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวัดจากการเพิ่มขึ้นของ Net Reserve (Spot+FWD) เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า จะพบว่า เพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้ามาก บ่งชี้ว่า ธปท. เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในระดับที่น้อยลง นอกจากนี้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เห็นได้จากการเกินดุลในบัญชีเดินสะพัดที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย. ประกอบกับเมื่อพิจารณาเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าต่างชาติมีการเข้าซื้อสุทธิเล็กน้อย จากสัปดาห์หน้าที่มีการเทขาย ทั้งนี้ การที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินที่น้อยลงประกอบกับยังคงมีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผลทำให้ค่าเงินบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 ต.ค.52) แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเล็กน้อยจาก 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 3.5 (%QOQ Annualized) ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 51 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ทั้งนี้ การยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ปี 52 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์

ดัชนีการจัดซื้อจากโรงงานเบื้องต้น (Flash PMI) ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ในเดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 49.3 ขณะเดียวกับดัชนีคำสั่งซื้อเบื้องต้นในภาคบริการ (Flash Service PMI) ในเดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 52.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.9 ด้วยเช่นกัน สะท้อนสัญญานการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ชัดเจน

ดัชนีการจัดซื้อจากโรงงาน (PMI) ของญี่ปุ่น ในเดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 54.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 54.5 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เป็นสัญญาณว่าการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจจะชะลอลงในไตรมาสที่ 4/2552 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวแต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับแบ่งแยกระหว่างภาวะเศรษฐกิจหดตัวและเศรษฐกิจขยายตัว

ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Industrial Output) เดือน ก.ย. 52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่ผู้ผลิตมีการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าเพิ่ม

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.6 ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศผลประกอบการของบริษัทใหญ่ในเกาหลีใต้ประจำไตรมาส 3 ของปี 52 อาทิบริษัทรถยนต์ฮุนไดและบริษัทซัมซุงที่ประกาศผลประกอบการที่เป็นบวกเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของเกาหลีใต้

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอุตสาหกรรมคาดการณ์ของเกาหลีใต้ (Business Sentiment Index: Manufacturing) เดือน พ.ย. 52 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับระดับ 93 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออก ทั้งนี้ ดัชนีในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 109 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 99 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องตัวเลขผลประกอบการของบริษัทยานยนต์ในเกาหลีใต้ ที่มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 3

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไต้หวันเดือน ก.ย. 52 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปีปรับตัวดีขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.5 ต่อปี และถือเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยได้รับปัจจัยบวกจากผลผลิตเคมีภัณฑ์และผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 15.2 และ 1.1 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลผลิตในหมวดก่อสร้างยังหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ -28.8 มาหดตัวเพียงร้อยละ -0.4 ต่อปี อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในโครงการภาครัฐเป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนส.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.3 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -31.6 ต่อปี อันเป็นผลจากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ -21.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -8.2 ต่อปี และสินค้าในกลุ่มพลังงานที่หดตัวร้อยละ -38.2 ต่อปี ทั้งนี้ ในเดือนส.ค. 52 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) ของสิงคโปร์เดือน ก.ย.52 หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หดตัวที่ร้อยละ -9.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ -5.6 ในเดือน ส.ค. โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของสินค้าเวชภัณฑ์ที่ร้อยละ -13.9 หลังจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 50 ในเดือน ส.ค. ส่งผลให้ภาพรวมของผลผลิตอุตสาหกรรมสิงคโปร์ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าในไตรมาส 4 ของปี ผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจในแถบเอเชียที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้มีการสะสมสินค้าคงคลัง (Re-Stocking)อีกครั้งตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคของออสเตรเลียในไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ลดลงจากการร้อยละ 1.5 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นการขยายตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ