บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน อินเดีย และสิงคโปร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2009 12:08 —กระทรวงการคลัง

***บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ***

1. ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ (Real GDP) หดตัวอย่างรุนแรงที่ร้อยละ 6.4 ในไตรมาสแรกของปี 2552 และปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ด้วยอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 นับเป็นผลจาก (1) การใช้จ่ายภาครัฐภายใต้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้กว่าร้อยละ 1.3 (2) ปริมาณการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ชะลอตัวด้วยอัตราต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความรุนแรงของการตัดลดงบประมาณการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง และ (3) ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวด้วยอัตราต่ำกว่าไตรมาสแรกของปีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปรับลดปริมาณการลงทุนในสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจ ยังคงเป็นเป็นปัจจัยลบที่กดดันให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 1.4 ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 หลังจากกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่แท้จริง (Real Imports and Exports) ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ (Import) ที่ชะลอตัวในอัตราสูงกว่าอัตราการชะลอตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ (Export) ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสุทธิกระเตื้องขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้กว่าร้อยละ 1.6

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปี นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวที่ระดับสูงสุด อนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2552 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.5 ในปี 2553

2. ตลาดแรงงาน

ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอ่อนตัวในช่วงต้นปี 2552 ด้วยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขการจ้างงานในครึ่งแรกของปี 2552 ลดลงถึง 3.4 ล้านตำแหน่ง หลังจากที่ลดลง 3.1 ล้านตำแหน่งในปี 2551 ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในเดือนธันวาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.5 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ4.9 นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2550

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลง โดยมีการสูญเสียตำแหน่งงานโดยเฉลี่ยเดือนละ 256,000 ตำแหน่ง เปรียบเทียบกับ 430,000 ตำแหน่งในไตรมาสที่ 2 และ 700,000 ตำแหน่งในไตรมาสแรกตามลำดับ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เห็นว่าอัตราการว่างงานจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่คาดการณ์การเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลง

3. ตลาดอสังหาริมทรัพย์

เริ่มมีสัญญาณของเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เห็นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 หลังจากตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ โดยราคาบ้านเดี่ยวในเดือนสิงหาคม 2552 เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งในสามของราคาที่จุดต่ำสุดในช่วงต้นปี 2552 ซึ่งนับเป็นปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจก่อสร้างต่อไป อัตราการซื้อบ้านเดี่ยวในเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2550 จำนวนที่อยู่อาศัยที่ยังขายไม่ได้ในตลาด (Inventory of Unsold Houses) ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ราคาบ้านจะเริ่มเข้ามีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 แต่ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก

4. ภาวะเงินเฟ้อ

ระดับราคาผู้บริโภค (Consumer Prices) ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2552 ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ โดยระดับราคาที่ดิ่งลงนับเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ในขณะที่ราคาอาหารไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ในช่วงหนึ่งปีก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงาน ลดลงจากร้อยละ 2.5 ในช่วงกลางปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 1.4 ในเดือนสิงหาคม 2552 ตามลำดับ

5. ตลาดการเงิน

ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวน และตลาดหลักทรัพย์ยังคงตกต่ำต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 หลังจากที่ตกต่ำรุนแรงในช่วงหลังของปี 2551 จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัว ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความมั่นคงของสินทรัพย์ทางการเงินที่สถาบันการเงินถือครองหรือให้การค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ให้เห็น นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา โดยในระหว่างวันที่ 9 มีนาคม — 30 มิถุนายน 2552 ดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้นถึงร้อยละ 36 ด้วยแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดีดตัวขึ้นอีกร้อยละ 12 ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม — 1 ตุลาคม 2552 ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 โดยรวมปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 14 ในปี 2552

ภาวะตลาดสินเชื่อบุคคลและภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดย LIBOR-OIS spread ระยะ 3 เดือนลดลงแตะระดับร้อยละ 0.39 ในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 นับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติการเงินซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.09 เปรียบเทียบกับร้อยละ 1.26 และร้อยละ 3.65 ในเดือนธันวาคมและเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.64 ในเดือนมิถุนายน 2552 และลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 2.83 ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงแม้ว่าดัชนีดังกล่าวจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงแต่ก็ถือว่าต่ำกว่าผลต่างสูงสุดที่ร้อยละ 6.16 ในเดือนธันวาคม 2551 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนอัตราสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Rate) ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในช่วงต้นไตรมาสที่ 2

6. นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เสนอให้จัดทำมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Program) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจประกอบไปด้วยมาตรการหลัก ๆ ดังนี้

1. จัดทำโครงการ Supervisory Capital Assessment Program เพื่อประเมินความมั่นคงในระยะกลางของธนาคารหลักในสหรัฐฯ นับเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ธนาคารที่ผ่านการประเมินสามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น

2. ขยายกรอบและขนาดการดำเนินงานของโครงการ Term Asset Backed Securities Loan Facility (TALF) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินผู้ออกสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

3. จัดทำโครงการ Public-Private Investment Program (PPIP) เพื่อซื้อคืนหนี้เสีย (Legacy Assets) จากสถาบันการเงิน ด้วยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางและบรรษัทค้ำประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ ร่วมกับเงินทุนจากภาคเอกชนในส่วนของการเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงดำเนินมาตรการซื้อคืนสินทรัพย์ที่หนุนด้วยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน (Government-Sponsored Enterprises: GSEs) อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สามารถคงตัวที่ระดับต่ำต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านรวมกว่า 500,000 ราย ภายใต้โครงการ Making Home Affordable Program ที่จัดทำขึ้นเพื่อลดอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ซื้อบ้าน ผ่านการปรับโครงการตราสารหนี้ ( Loan Modification) และการรีไฟแนนซ์ อีกด้วย

ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย AmericanRecovery and Reinvestment Act หรือ Recovery Act ด้วยงบประมาณรวมกว่า 787 พันล้านเหรียญสรอ. เพื่อส่งเสริมรายได้ การออม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านทางเครดิตภาษี(Tax Credit) ตลอดจนการปรับเพิ่มระดับเงินประกันสังคมและเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานนอกจากนั้น จะมีการให้เงินทุนสนับสนุนแก่โครงการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในระดับรัฐซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 2552-2553 โดยคาดว่าภายในเดือนกันยายน 2552 จะมีการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้โครงการดังกล่าวรวม 95 พันล้านเหรียญสรอ.

7. มาตรการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ (ชั่วคราว)

ทางการสหรัฐฯ ปรับเพิ่มระดับการขาดดุลงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการสร้างงานรวมทั้งกระตุ้นตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยคาดการณ์ระดับการขาดดุลงบประมาณในปี 2552 ที่ 1.6 ล้านล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 11.2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยคาดกการณ์การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 จากการดำเนินมาตรการภายใต้โครงการ Trouble Asset Relief Program (TARP) และ Recovery Act ในขณะที่รายได้ประชาชาติปรับตัวลดลงร้อยละ 18 จากผลของอัตราการจ้างงาน รายได้ และมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คาดกว่า ในระหว่างปี 2555-2562 ระดับการขาดดุลงบประมาณโดยเฉลี่ยจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินมาตรการภายใต้ Recovery Act และเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

8. ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.5 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2552 และอ่อนค่าต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทั้งนี้ ในปี 2552 เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าถึงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ และร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศคู่ค้าหลัก ดังแผนภาพด้านล่าง

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2552 ตลาดการเงินและตลาดสินเชื่อมีความตึงตัวสูง นักลงทุนจึงหันมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในช่วงสองเดือนแรก อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 1 ตลาดสินเชื่อมีเสถียรภาพมากขึ้น ระดับความผันผวนลดลง ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก และผลการประชุมสุดยอดผู้นำG-20 ได้ผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ มากขึ้น อุปสงค์ของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนตัวลง

***บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจจีน***

1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ถึงแม้การชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 แต่มาตรการด้านการเงินและการคลังที่ทางการจีนบังคับใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น มีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว บัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับที่ต่ำลง และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกอีกด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 ในครึ่งแรกของปี 2552 โดยเป็นผลจากการขยายตัวด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรร้อยละ 6.2 และการอุปโภคบริโภคร้อยละ 3.8 ในขณะที่ ปริมาณการส่งออกชะลอตัวร้อยละ 3.9 ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในปี 2552 ที่ร้อยละ8.5 สูงกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนเมษายนที่ร้อยละ 6.5 และคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ที่ร้อยละ 9.0 โดยคิดเป็นร้อยละ 28 ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.1

2. ภาวะดุลการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ถึงไตรมาสแรกของปี 2552 ปริมาณการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนชะลอตัวที่ร้อยละ 31 และร้อยละ 30 ตามลำดับ จากการอ่อนตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทางการจีนมีส่วนกระตุ้นให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ (Trade Surplus) ของจีนในไตรมาสที่ 2 ของปี2552ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 35 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 3.2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้ ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อยู่ที่ระดับ103 พันล้านเหรียญสรอ. ปรับลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

3. นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทางการจีนรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงผ่านการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยในเดือนกันยายน 2551 ธนาคารกลางจีนได้ปรับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะ 1 ปี ลดลงร้อยละ 2.16 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และปรับอัตราเงินสำรองของธนาคารลงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ 15.5 ตลอดจนปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายให้กับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) และยังคงตรึงไว้ที่ระดับเดิมนอกจากนั้น ธนาคารกลางจีนได้ขยายเพดานเงินกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนให้มีสินเชื่อจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มีสินเชื่อจดทะเบียนใหม่รวมมูลค่ากว่า1.1 ล้านล้านเหรียญสรอ. คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือกว่าสามเท่าของมูลค่าสินเชื่อจดทะเบียนใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทางการจีนให้การสนับสนุนภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้แสดงความกังวลถึงปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่อาจกระทบต่อมาตรฐานการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน จึงดำเนินมาตรการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินเตรียมการรับมือกับสินเชื่อที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา สินเชื่อจดทะเบียนใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 355 พันล้านเหรียญสรอ. และ 410 พันล้านเหรียญสรอ. ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสินเชื่อใหม่โดยเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงต้นปี 2552 ที่ 1.2 ล้านล้านเหรียญสรอ. อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ทางการจีนได้ดำเนินมาตรการควบคุมสภาพคล่องในตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร (Interbank Market) ไม่ให้สูงเกินไป โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย พันธบัตรของภาครัฐและอัตราดอกเบี้ยสำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายโดยมีสัญญาซื้อคืน(repurchase agreement)

4. อัตราแลกแปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ประเทศจีนยังคงตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยมูลค่าเงินหยวนที่แท้จริงแข็งค่าขึ้นร้อยละ 13.3 ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 ถึงกุมภาพันธ์2552 และอ่อนตัวลงร้อยละ 6.9 ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม 2552 ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ เห็นว่ามูลค่าเงินหยวนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังคงต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเห็นได้จากมูลค่าเงินหยวนที่แท้จริงซึ่งอ่อนค่าลง ประกอบกับระดับเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 2.1 ล้านล้านเหรียญสรอ. คิดเป็นร้อยละ 49 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือกว่า 3 เท่าของปริมาณการนำเข้าในรอบ 2 ปีการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอย่างอิสระ นับเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทางการจีนสามารถควบคุมระดับเงินทุนและส่งเสริมเสถียรภาพทางราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ เห็นว่าการปรับค่าเงินหยวนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัด และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทางการจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุนเป็นหลัก โดยไม่อิงกับการส่งออกเพียงอย่างเดียว

***บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจอินเดีย***

1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ถึงแม้ เศรษฐกิจอินเดียจะอิงกับอุปสงค์ภายนอกประเทศค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้อินเดียสามารถควบคุมปริมาณเงินทุนภายในประเทศ และช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกต่อเศรษฐกิจอินเดียโดยรวม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจใหม่อื่น ๆ (Emerging Markets) อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 และปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2552 โดยขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 และร้อยละ 7.2 ในไตรมาสที่ 1 และ 2ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 ที่ร้อยละ 5.4 เนื่องจากแรงกดดันจากความตึงตัวของตลาดสินเชื่อการอ่อนตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับผลผลิตในฤดูมรสุมที่ต่ำกว่าคาดกาณ์

2. นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase Rate) จากร้อยละ 9 ในเดือนตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ในเดือนเมษายน 2552 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Reverse Repurchase Rate) จากร้อยละ 6 ในเดือนตุลาคม 2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ในเดือนเมษายน 2552 ตลอดจนปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารลงร้อยละ 4.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0

ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น ทางการอินเดียได้ดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้ ในระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึง มีนาคม 2552 ได้กำหนดระดับงบประมาณขาดดุลและระดับหนี้สาธารณะไว้ที่ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 80 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตามลำดับ

3. ภาวะดุลการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

ปริมาณการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับอินเดียปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.6 พันล้านเหรียญสรอ. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เปรียบเทียบกับปริมาณการขาดดุลที่ 4.7 พันล้านเหรียญสรอ. ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากอินเดียที่ชะลอตัว ส่วนค่าเงินสกุลรูปีเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และอยู่ที่ระดับคงที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี

***บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจสิงคโปร์***

1. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

เศรษฐกิจสิงคโปร์อิงกับการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าคิดเป็น 3.5 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สิงคโปร์จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกค่อนข้างรุนแรงในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 20.7 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ในขณะที่ ปริมาณการส่งออกสินค้าชะลอตัวถึงร้อยละ 46 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2551 ถึง มกราคม 2552 และกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 29 ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์อัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2552 และน่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.1 ในปี 2553ถึงแม้ผลกำไรของธุรกิจธนาคารในสิงคโปร์จะลดลง จากจำนวนสินเชื่อประสบปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น แต่ภาคธนาคารโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากนัก อัตราการขยายตัวของปริมาณสินเชื่อจดทะเบียนใหม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยปริมาณสินเชื่อจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา

2. นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในเดือนมกราคม 2552 ทางการสิงคโปร์อนุมัติงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 3 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2551-2552 สำหรับมาตรการทางการคลังเพื่อการสร้างงาน ช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไป และส่งเสริมการแข่งขันในตลาด ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มระดับการขาดดุลงบประมาณเป็นร้อยละ 3.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปีงบประมาณ 2552 (เมษายน 2552 — มีนาคม 2553)

ในส่วนของนโยบายการเงิน ทางการสิงคโปร์ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Currency swap) ด้วยมูลค่ารวมกว่า 30 พันล้านเหรียญสรอ. และบังคับใช้มาตรการค้ำประกันเงินฝากซึ่งครอบคลุมทั้งเงินสกุลดอลลาร์สิงคโปร์และเงินสกุลต่างประเทศ สำหรับลูกค้าบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยมีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 2553

3. ภาวะดุลการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

สิงค์โปร์และสหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปริมาณการขาดดุลการค้าของสิงคโปร์กับสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.0 พันล้านเหรียญสรอ. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เปรียบเทียบกับปริมาณการขาดดุลที่ 6.3 พันล้านเหรียญสรอ. ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากผลของการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ สู่สิงคโปร์ที่ชะลอตัวเป็นสองเท่าของอัตราการชะลอตัวในการนำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์ส่วนค่าเงินสกุลดอลลาร์สิงคโปร์เทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ1.1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แต่กลับมาแข็งค่าที่ร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่ 3 ของปี ในขณะที่มูลค่าค่าเงินสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ที่แท้จริงอ่อนค่าลงร้อยละ 4.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ