รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2009 10:50 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวลดลง สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเดือนกันยายน 2552 ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการชะลอลงในสินเชื่อภาคธุรกิจ ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่ออยู่ที่ 8,510.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 8,470.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบปีที่เม็ดเงินเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวลดลงเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี ใกล้เคียงกับร้อยละ 7.6 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดคงค้างเงินฝากจำนวน 9,359.7 พันล้านบาท ลดลงจาก 9,396.2 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า จากการย้ายเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 28.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาส 3 ของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 1.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ -6.7 และ -34.7 ต่อปี โดยสาเหตุที่ปริมาณจำ หน่ายปูนซีเมนต์ และเหล็กที่เพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนภายในประเทศในหมวดก่อสร้างที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่เน้นการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการลงทุนของเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ่นตามโครงการลงทุนภาครัฐ (Crowding-in) เช่น โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จะส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 52 และ 53

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปีซึ่งนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังจากหดตัวติดต่อกันมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปี สาเหตุสำคัญมาจากฐานการคำนวณในปีที่ผ่านมาเริ่มลดต่ำลง ประกอบกับดัชนีราคาไฟฟ้าและน้ำประปาฯ สูงขึ้นร้อยละ 23.7 เนื่องจากไม่มีมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือนเหมือนในปีก่อน และดัชนีราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้ความต้องการบริโภคมีมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -4.6 อันเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นมาก แม้ว่าราคาน้ำมันดิบโลกในเดือนนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ยังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 0.2 (%mom) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคม 2552หดร้อยละ -0.1 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2552 หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปีซึ่งหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -12.4 ต่อปีและหดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน (ธ.ค. 51 — ต.ค. 52) ซึ่งมีสาเหตุจากการลดลงของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นหลัก ที่หดตัวร้อยละ -10.4 โดยเฉพาะเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กฉาบ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง และเหล็กแผ่นเรียบ เป็นต้น และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตหดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี โดยเป็นการลดลงในส่วนของเสาเข็มคอนกรีต พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และคานคอนกรีตสำเร็จรูป อันเป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนก่อนหน้า

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2552 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ยางพารา และปาล์มน้ำมันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะ สุกร และไก่เนื้อ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามสภาพภูมิอากาศที่ไม่ร้อนมากนัก ส่งผลให้สัตว์มีการเติบโตได้เร็ว

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ดัชนีภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (ISM Mfg Index) เดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 55.7 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 และสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่งทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) ปรับตัวลดลง สะท้อนว่าทิศทางการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของประเทศจีน (NBS PMI) เดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 55.2 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.3 เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีองค์ประกอบในหมวดผลผลิตและคำ สั่งซื้อ สะท้อนแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมของจีนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2552

ดัชนีคำสั่งซื้อภาคบริการของกลุ่มประเทศยูโรโซน (Markit Service PMI) เดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 52.6 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.9 และสูงสุดในรอบ 22 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการในฝรั่งเศสและเยอรมนี ประกอบกับดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 52 ที่ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งยืนยันว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการได้กลับมาฟื้นตัวแล้ว

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ของสิงคโปร์ในเดือนต.ค.52 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จาก 50.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ปรับตัวลดลงต่ำกว่าดัชนีโดยรวม ไปอยุ่ในระดับ 49.6 จาก 52.4 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนสัญญาณการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วดัชนีดังกล่าวยังคงระดับอยู่เหนือ 50 ซึ่งจัดว่ายังอยู่ในทิศทางที่ดี

การส่งออกเกาหลีใต้ในในเดือนต.ค. 52 หดตัวมากขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี จากร้อยละ -7.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -16.3 ต่อปี จากร้อยละ -24.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลบัญชีการค้าของเกาหลีใต้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 4.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการว่าการส่งออกของเกาหลีใต้จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือนก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -19.9 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ด้านมิติคู่ค้าพบว่า การส่งออกสินค้าที่หักเชื้อเพลิงไปยังประเทศจีนขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวที่ร้อยละ -30.9 และ -11.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -24.2 ต่อปี หดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ -24.6 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -24.2 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -19.8 ต่อปี โดยเมื่อพิจารณาประเภทสินค้า พบว่า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 42.3 ของการส่งออกทั้งหมดในเดือนก.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -19.4 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งได้แก่ อาเซียน และสหรัฐฯ มีการหดตัวร้อยละ -25.6 และ -24.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ การส่งออกไปยังจีนขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนก.ย. 52 หดตัวร้อยละ -20.2 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9.3 พันล้านริงกิต

ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.25 ในเดือน ต.ค. 52 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.50 ในเดือน พ.ย.52 เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของออสเตรเลียในเดือนก.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -27.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -23.3 ต่อปีเนื่องจากการส่งออกที่ลดลงในหมวดสินค้าหลัก ได้แก่ ถ่านหินที่หดตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ -46.4 ต่อปี และเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ -43.6 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -15.8 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ