IMF ทำนายภาวะเศรษฐกิจเอเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2009 13:49 —กระทรวงการคลัง

IMF โดย Regional Office for Asia Pacific โดยนาย Anoop Singh, Director Asia and Pacific Department ร่วมมือกับ ปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายต่างประเทศ (นาย Rintaro Tamaki) และ BOJ (นาย Hideaki Ono, Directorgeneral, International Department) ได้จัดสัมมนาเรื่องแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ภูมิภาคเอเซียสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและสามารถฉุดให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกพ้นจากภาวะถดถอย มีการส่งออกเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิค (IT Products) มีการมีฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ

2. อุปสงค์ภายในประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา

3. การคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการเงินของโลกได้ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนฟื้นตัว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศกระเตื้องขึ้นอย่างมาก สถาบันการเงินเริ่มปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชน ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนด้านความ แข็งแกร่งอุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชน (Private Domestic Demand)

4. ภูมิภาคเอเซียจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2553 แต่ในอัตราที่ช้าลง กว่าช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงได้แก่ — ด้านดีมานด์ การฟื้นตัวของประเทศพัฒนาแล้วยังเปราะบาง ซึ่งปัจจุบันยังต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะที่ฐานะการเงินภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ สถาบันการเงินชะลอการ ปล่อยกู้ ทำให้ต้องชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในขณะที่ภาคครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย มีความกังวลจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนดีมานด์จากภายนอกประเทศยังไม่มากพอที่จะฉุดการเจริญเติบโตของเอเซียโดยรวมให้สูงขึ้นมากได้ - ด้านอุปทาน ภาคการผลิตยังอยู่ในระหว่างการปรับตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตเศรษฐกิจทำ ให้ฐานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอ ในขณะที่ Manufacturing Capacity Utilization ยังมีส่วนเกินที่จะสามารถขยายการผลิต โดยไม่ต้องมีการลงทุนใหม่

5. IMF ทำนายเศรษฐกิจเอเซียปี 2553 ว่าจะโตร้อยละ 5.8 เทียบกับปี 2552 ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งยังต่ำกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 6.7 โดยจีนจะมีการเจริญเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 9 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคเพิ่มขึ้น อินเดียจะโตร้อยละ 6.4 เป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็ง ภาคการเงินกลับสู่ภาวะปกติช่วยสนับสนุนการลงทุนของเอกชนให้สูงขึ้น กลุ่ม NIEs (ประกอบด้วยฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) ซึ่งถดถอยลงในปี 2552 ร้อยละ -2.3 จะมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 ในขณะที่อาเซียน 5 อินโดนีเซียและเวียตนามมีอัตราการเจริญเติบโตที่สดใสจากปี 2552 ต่อเนื่องไปถึงปี 2553 ไทยและมาเลเซียซึ่งถดถอยในปี 2552 จะกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งในปี 2553 โดยไทยคาดว่าจะโตที่ร้อยละ 3.7

ส่วนญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าจะถดถอยในปี 2552 ทั้งปีร้อยละ -5.5 แต่จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในปี 2553 ที่ร้อยละ 1.75 รายละเอียดตามตาราง

Asia Real GDP

(Year-on-Year percent change)

                                           2008       2009     2010

Latest Projections

Industrial Asia                            -0.2       -4.4      1.7
Japan                                      -0.7       -5.4      1.7
Australia                                   2.4        0.7      2.0
New Zealand                                 0.2       -2.2      2.2
Emerging Asia                               6.8        5.1      7.0
NIEs                                        1.5       -2.3      3.7
Hong Kong SAR                               2.4       -3.6      3.5
Korea                                       2.2       -1.0      3.6
Singapore                                   1.1       -1.7      4.3
Taiwan Province of China                    0.1       -4.1      3.7
China                                       9.0        8.5      9.0
India                                       7.3        5.4      6.4
ASEAN 5                                     4.8        0.7      4.0
Indonesia                                   6.1        4.0      4.8
Malaysia                                    4.6       -3.6      2.5
Philippines                                 3.8        1.0      2.5
Thailand                                    3.8        1.0      3.2
Vietnam                                     2.6       -3.5      3.7
Emerging Asia (excluding China)             4.8        1.7      4.9
Emerging Asia (excluding China and India)   3.1       -0.8      3.8
Asia                                        5.1        2.8      5.8
ที่มา IMF

6. วิกฤตที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเซียได้ใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเข้าแก้ปัญาหาอย่างจริงจัง เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้นหลังจากที่ลดลงอย่างมากช่วงเกิดวิกฤต จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มพิจารณาลดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2553 ซึ่งในระยะสั้น IMF เห็นว่า ควรจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะเอเซียยังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอน แต่ก็เห็นว่าการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเซียจะมีผลกระทบน้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว

7. ปัจจัยเสี่ยงในระยะยาวของเอเซียได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนในขณะที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญการขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจใหม่ทำได้โดยเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น กระตุ้นการบริโภค ผ่านมาตรการที่สามารถลดการออมของภาคเอกชน ขยายระบบประกันสังคม ปฏิรูประบบการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ความใช้มาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ด้านธุรกิจบริการ (Nontradable sectors) เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากการส่งออก นอกจากนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรวมทั้งด้านตลาดแรงงาน

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ