ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของ G-20 ระหว่างวันที่ 6 — 7 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 12, 2009 08:55 —กระทรวงการคลัง

ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของ G-20 ระหว่างวันที่ 6 — 7 พฤศจิกายน 2552 ณ เซนต์แอนดรูส์ สหราชอาณาจักร

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของ G-20 เมื่อวันที่ 6 — 7 พฤศจิกายน 2552 ณ เซนต์แอนดรูส์ สหราชอาณาจักร โดยนาย Alistair Darling รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรในฐานะเจ้าภาพได้เชิญนายกรณ์ฯ เข้าร่วมในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ โดยมีประเด็นหลัก ได้แก่ การหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก การสร้างกรอบการดำเนินงานเพื่อความเจริญเติบโตที่ยั่งยืน และสมดุล แนวทางการเพิ่มบทบาทและประสิทธิภาพการทำงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและการปฏิรูปธนาคารโลก แผนการปฏิรูประบบการเงินเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของระบบการเงินโลกอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน แนวทางการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อน (Climate Change)

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกได้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีความเปราะบางอยู่ ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกคงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าระบบเศรษฐกิจและการเงินของตนสามารถฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปรกติได้ ซึ่งหากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) และการจ้างงานสามารถฟื้นตัวได้ จึงค่อยพิจารณาดำเนินมาตรการถอนตัว (Exit Strategy) ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การมีระบบการคลังที่ยั่งยืน การมีเสถียรภาพด้านราคา และประสิทธิภาพของระบบการเงิน

ที่ประชุม G-20 ได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการดำเนินงานเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล (Framework for Strong, Sustainable, and Balanced Growth) เพื่อสนับสนุนการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ การสร้างงานภายในประเทศ และการลดความยากจน โดยได้เห็นชอบให้แต่ละประเทศจัดทำกรอบเวลาการดำเนินนโยบายภายในประเทศ (Time Table for National Policy Framework) ซึ่งเป็นข้อมูลนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินของตน รวมถึงให้มีการประเมินผลระหว่างกัน (Mutual Assessment) เพื่อเป็นการวัดผลว่า ประเทศสมาชิก G-20 สามารถดำเนินตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

นอกจากนี้ ประเด็นแนวทางการจัดหาเงินทุนในการสนับสนุนแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ที่ประชุมได้มีการหารืออย่างเข้มข้นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องพิจารณาแนวทางเลือกต่างๆ ในการสนับสนุนเงินทุนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเห็นว่า แหล่งเงินทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ นอกจากนี้ ที่ประชุม G-20 เห็นควรให้ประเทศสมาชิกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ เพิ่มความร่วมมือทางการเงินทั้งในระดับภูมิภาค ทวิภาคี และพหุภาคี อีกทั้ง หากภาครัฐเป็นผู้นำร่องในการดำเนินการให้ความสนับสนุนด้าน

การเงินจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเช่นกัน

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ได้กล่าวขอบคุณประธานการประชุมฯ ที่ได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมประชุมในนามประธานอาเซียน และได้หยิบยกประเด็นการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกประเทศควรเร่งดำเนินการ และนายกรณ์ฯ ได้เสนอต่อที่ประชุม G-20 ว่า ควรมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและทางเลือกต่างๆ ในการสนับสนุนด้านการเงิน รวมถึงให้มีการระบุที่ชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินระหว่างประเทศในการระดมทุนดังกล่าวด้วย

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3607

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 159/2552 11 พฤศจิกายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ