Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 พ.ย. 2552
Summary:
1. ครม.เศรษฐกิจอนุมัติงบ 1 แสนล้านบาท ใช้พัฒนารถไฟทั้งระบบ
2. ไทยจับมือเปรู เปิดเสรีการค้า ภาษีเหลือ 0 %
3. เอเปกประกาศยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค
Highlight:
1. ครม.เศรษฐกิจอนุมัติงบ 1 แสนล้านบาท ใช้พัฒนารถไฟทั้งระบบ
- รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.ศก.) เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) โดยอนุมัติกรอบงบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงระบบรางรถไฟทั่วประเทศ การจัดซื้อหัวรถจักร รวมทั้งพัฒนาบุคลากร
- โดยแผนพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนเป็นการบูรณะเส้นทางเดินรถเดิม และเพิ่มเติมหัวรถจักร ดำเนินการระหว่างปี 53-57 วงเงินประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท ระยะที่ 2 เป็นการขยายโครงข่ายทางรถไฟสายใหม่ และโครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินประมาณ 392,348 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเพิ่มสายทางคู่ทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 324,710 ล้านบาทและระยะที่ 3 ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง วงเงินประมาณ 708,855 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในโครงการ การขนส่ง/Logistic จาก โครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ซึ่งมีงบประมาณ 307,641 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของงบประมาณอนุมัติจากโครงการ SP2 โดยคาดว่าจะสามารถลดต้นทุน Logistic จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 14 ต่อ GDP ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วพบว่าต้นทุนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-10 ของ GDP ซึ่งหากในอนาคตราคาน้ำมันสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อปัญหาต้นทุนการขนส่งที่สูง ทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ยากขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาด้าน Logistics จึงมีความสำคัญเร่งด่วน
2. ไทยจับมือเปรู เปิดเสรีการค้า ภาษีเหลือ 0 %
- กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11-14 พ.ย. นี้ ไทยจะลงนามภายใต้กรอบการเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ไทย-เปรู ซึ่งจะลด และยกเลิกภาษีประมาณ 70 % ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยสินค้าที่ไทยจะได้ภาษี 0 % ทันที ได้แก่ รถปิกอัพ เครื่องซักผ้าความจุไม่เกิน 10 กิโลกรัม พรินเตอร์ และด้าย เปรูจะลดภาษีสินค้าที่ทำด้วยเหล็ก เหล็กกล้าอื่นๆ ไมโครเวฟ เครื่องรับวิทยุ หลอดฟลูออเรสเซนต์
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีการค้าไทย-เปรูจะช่วยให้การค้าระหว่างไทย-เปรูขยายตัวทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า สินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดเปรูได้มากขึ้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเปรูส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การทำความตกลงกับเปรูทำให้ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวถูกลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าแปรรูปและเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยให้สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ มูลค่าการค้าทั้งสองฝ่ายปี 2552(ม.ค. — พ.ค.) มีมูลค่า 1,437.28 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันในปีก่อนหน้าร้อยละ 68.96 โดยไทยส่งออกไปเปรูมูลค่า 1,232.37 ล้านบาท และนำเข้า 204.91 ล้านบาท
3. เอเปกประกาศยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค
- รัฐมนตรีการคลังของกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ได้แถลงการณ์ว่ายังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวอย่างยั่งยืน การเร่งรัดถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยย้อนกลับคืนมาอีกครั้งได้ ทั้งนี้ จากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของเอเชียปรับตัวดีขึ้นมากกว่าสหรัฐ และประเทศต่างๆ ในยุโรป
- สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเชียจากภาครัฐโดยผ่านนโยบายทางการเงินและการคลังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีการฟื้นตัว ซึ่งในกรณีของเศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 52 จากสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและภาคการผลิต อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเอเชียยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ยังคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มของราคาน้ำมันนโลก อัตราเงินเฟ้อ และการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันถือมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th