รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 13, 2009 12:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 พ.ย. 2552

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 68.0 จุด

2. สศอ. ระบุอุตสาหกรรมไทยส่งสัญญาณฟื้นปีหน้า

3. ธนาคารกลางเกาหลีได้คงอัตรดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพ.ย. 52 ไว้ระดับ 0.25

Highlight:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 68.0 จุด
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยในเดือน ต.ค.อยู่ที่ระดับ 68.0 จุด ปรับตัวลดลงมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 68.4 จุด โดยมีสาเหตุหลักมาจากความวิตกของราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่มั่นใจในอุตสาหกรรมแถบมาบตาพุด ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทยมองว่าผลจากความภาวะด้านการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชา และอุตสาหกรรมในแถบมาบตาพุดอาจจะส่งผลชัดเจนขึ้นในเดือน พ.ย. แต่อย่างไรก็ตามมองว่ายังคงมีสัญญาณความมั่นใจต่อภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่แม้ว่าจะมีปัจจัยลบที่ผู้บริโภคยังต้องพึงระวังและจะยังมีอยู่ในระยะสั้นนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานั้นนั้นเป็นไปตามปัจจัยลบในระยะสั้นจากความผันผวนทางปัจจัยการเมืองระยะสั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาวะการใช้จ่ายบริโภคในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาของภาคเอกชนจากตัวเลขภาคเศรษฐกิจจริงนั้นยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาจากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง ณ ราคาคงที่ในเดือน ต.ค. พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.ที่ร้อยละ 6.4 ต่อเดือน หรือหดตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ -7.4 ต่อปีเทียบกับการหดตัวทีร้อยละ -9.6 ต่อปีในเดือน ก.ย. บ่งชี้ได้ว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้ว่าจะมีปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในบ้าง
2. สศอ. ระบุอุตสาหกรรมไทยส่งสัญญาณฟื้นปีหน้า
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในปี 2552 จะมีทิศทางดีขึ้นแม้อัตราการขยายตัวจะยังติดลบแต่ติดลบน้อย จะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี(ทั้งปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -8.5) และแนวโน้มปี 2553 กลับมาขยายเป็นบวก (คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6.0-8.0) เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเริ่มมีผล ทำให้การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นเป็นลำดับ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม 2552 ที่หดตัวร้อยละ -25.6 นับเป็นจุดต่ำสุดแล้วเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราการหดตัวน้อยลง และในเดือนกันยายนเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ 1 จากปีก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นที่สะท้อนจากดัชนี MPI ที่ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับผลการคาดการณ์ของ สศค. ณ เดือนกันยายน ที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังและกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี แต่ในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในเอเชีย
3. ธนาคารกลางเกาหลีได้คงอัตรดอกเบี้ยนโยบายในเดือน พ.ย.52 ไว้ที่ระดับ 0.25
  • ธนาคารกลางเกาหลีได้คงอัตรดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพ.ย.52 ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังมีไม่มาก เนื่องจากราคาบ้านและอัตราการขยายตัวของสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามทางธนาคารกลางเกาหลีคาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสแรกปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าทั้งนี้หากพิจารณาจากดัชนีบ่งชี้ล่าสุดจากทั้งภาคการผลิตและภาคอุปสงค์ ไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 117 ในเดือนต.ค 52 และร้อยละ 5.4 ในเดือนก.ย. 52 ตามลำดับ แนวโน้มที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจเกาหลีทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีอาจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ประมาณ 25-50 bps (Basis Point) ในไตรมาสที่ 1 ปีหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ