รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พ.ย. 2552

Summary:

1. ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรขายได้เดือน ต.ค.52 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี

2. ซีอีโอชี้ไตรมาส 4 เชื่อมั่นดีขึ้น คาดปีหน้ากำไรเพิ่ม 12.75%

3. เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 3 ปี 2552

Highlight:
1. ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรขายได้เดือน ต.ค.52 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือน ต.ค.52 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี จากการหดตัวของราคาข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลังเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิ ปาล์มน้ำมัน และยางพาราปรับตัวดีขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากการขยายตัวของข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไกเนื้อ เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในเดือนต.ค. สถานการณ์ของเศรษฐกิจด้านการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวในอัตราชะลอลงมากมาอยู่ที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี จากช่วงกลางปีที่หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -17.0 ต่อปี ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากช่วงกลางปีที่หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -4.0 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี จากช่วงกลางปีที่หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -21.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากต่อไป
2. ซีอีโอชี้ไตรมาส 4 เชื่อมั่นดีขึ้น คาดปีหน้ากำไรเพิ่ม 12.75%
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริหารต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สูงถึง 69.5 สะท้อนถึงระดับความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 66 อย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง มาตรการ“ไทยเข้มแข็ง”ของรัฐบาล และการจัดประชุมอาเซียนที่ผ่านมา ส่วนมุมมองการขับเคลื่อนธุรกิจ พบว่า ผู้บริหาร 45% คาดว่าผลกำไรในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 12.75% สอดคล้องกับระดับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่เป็นภาพบวก โดยผลกำไรที่เป็นบวกในปีนี้ ความเห็นส่วนใหญ่ หรือ 40.63% มองว่ามาจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการ และ 29.69% มาจากการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค. 52ที่ระดับ 68.0 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ที่ระดับ 67.4 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และภาคการส่งออกในเดือนต.ค. 52 ที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก.ย. 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -8.5 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเนื่องไปยังภาคการจ้างงาน การบริโภค และการลงทุน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 นั้น จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี
3. เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 3 ปี 52
  • เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (annualized rate) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 (annualized rate) อันเป็นผลจากภาคการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่เศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองขยายตัวร้อยละ 1.1 (annualized rate) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มมีความชัดเจนตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เริ่มมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 52 เป็นบวก ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 52 ที่ร้อยละ 4.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) ทั้งนี้ จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ