รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 9 - 13 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 11:45 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้
สรุป

1. ไทยขยับมาเป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 4 จากเดิมอันดับ 5 จากผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นในต่างประเทศปี 2552

2. เดือน ก.ย. 52 จำนวนคำสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว

3. จำนวนหนี้สาธารณะญี่ปุ่นเพิ่มถึง 864 ล้านล้านเยนโดยมีภาระหนี้ต่อหัวประชากรรายละจำนวน 678 ล้านเยน สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

4. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศ ในขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ -32.1 การนำเข้าลดลงร้อยละ -37.7

-----------------------------------

1. ไทยขยับมาเป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 4 จากเดิมอันดับ 5 จากผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นในต่างประเทศปี 2552

จากผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นในต่างประเทศโดย JBIC พบว่าประเทศไทยในกลาง (ระยะ 3 ปีข้างหน้า) ไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4 จากเดิมอันดับที่ 5 แทนที่รัสเซีย เนื่องจากแนวโน้มการเจริญเติบโตของตลาดดีขึ้นและค่าแรงคงที่ แต่ในขณะเดียวกันหลายบริษัทก็ได้กล่าวถึงปัญหาด้านการแข่งขันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันที่จะสูงขึ้นอย่างมากและจำนวนพนักงานระดับบริหารในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอในปัจจุบัน

การสำรวจครั้งนี้ ได้สุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจากบริษัทญี่ปุ่นที่มีสาขาในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง โดยรวบรวมข้อมูลระหว่าง ก.ค.- ก.ย.52 และมีจำนวนบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 625 แห่ง ผลการสำรวจในระยะกลางนั้นอันดับ 1 — 3 ยังคงเป็นประเทศจีน อินเดีย และเวียดนามตามลำดับเช่นเดิม ในส่วนของประเทศไทยที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 4 โดยมีรายละเอียดว่า

1) ร้อยละ 50.3 ของบริษัทตอบว่า ต้องการจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายกิจการเพิ่มขึ้น

2) ร้อยละ 49.2 ของบริษัทตอบว่า ต้องการจะรักษาสภาพตลาดปัจจุบัน

3) มีเพียงร้อยละ 0.6 ของบริษัทที่ตอบว่าจะถอนทุนออกจากประเทศไทย

ผลการสำรวจภาพรวม แนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียงร้อยละ 66 โดยร้อยละ 65.8 ของบริษัทตอบว่าต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายกิจการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในระยะกลาง ซึ่งลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โดย อุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มจะลงทุนลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

2. เดือน ก.ย. 52 จำนวนคำสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5

Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ในเดือน ก.ย. 52 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มีมูลค่ารวม 738 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว ทั้งนี้คำสั่งชื้อเครื่องจักรทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 โดยคำสั่งซื้อภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.6 แต่คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลงร้อยละ 0.1

3. จำนวนหนี้สาธารณะญี่ปุ่นเพิ่มถึง 864 ล้านล้านเยน

จำนวนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.52 มีจำนวน 864.52 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 4.27 ล้านล้านเยนจากสิ้นเดือนมิ.ย.52 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีภาระหนี้ต่อหัวประชากรรายละจำนวน 678 ล้านเยน คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลต้องออกพันธบัตรจำนวนเพิ่ม 29 ล้านล้านเยนจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.53 ซึ่งสิ้นปีงบประมาณ 2552 เพื่อให้เพียงพอกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล

4. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย.52 มีจำนวน 1.57 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว โดยยอดการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยอดการเกินดุลการรายได้ลดลง

การเกินดุลการค้าและบริการมีจำนวน 560.3 พันล้านเยน ส่วนการเกินดุลการค้ามีจำนวน 599.2 พันล้านเยนโดยยอดการส่งออกลดลงร้อยละ -32.1 มีจำนวน 4.78 ล้านล้านเยน การลดลงติดต่อกัน 12 เดือนแล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -37.7 มีจำนวน 4.18 ล้านล้านเยน การลดลงยอดการนำเข้า มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันลดลงเทียบกับปีก่อนหน้าอย่างมาก

ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดมา ลดลงร้อยละ 27.2 มีจำนวน 1.08 ล้านล้านเยน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของโลกต่ำและค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศลดลง

ดุลบัญชีทุนและการเงินขาดดุล 2.26 ล้านล้านเยน โดยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ลดลงเช่นกัน รายละเอียดปรากฎตามตารางที่แนบ

ดุลการชำระเงิน ระหว่างประเทศประจำเดือนกันยายน 2552

(Balance of Payments)

หน่วย: พันล้านเยน

                    รายการ                                กันยายน 2552        กันยายน 2551
1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)                   1,564.6            1,564.6
(เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                      (0.2)            (-46.5)
 1.1 ดุลการค้าและบริการ (Goods & Services Balance)               560.3              167.7
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (234.1)            (-89.6)
  1.1.1 ดุลการค้า (Trade Balance)                               599.2              320.2
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                    (87.1)            (-81.9)
        การส่งออก (Exports)                                  4,775.5            7,028.4
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-32.1)              (2.1)
        การนำเข้า (Imports)                                  4,176.4            6,708.2
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-37.7)             (31.1)
  1.1.2 ดุลบริการ (Services Balance)                            -38.9             -152.5
 1.2 รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผล (Income)                        1,082.3            1,486.0
 1.3 การโอนรายได้ (Current Transfers)                          -74.7              -89.1
2. ดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital & Financial Account Balance)  -2,265.2           -1,561.0
 2.1 ดุลบัญชีการเงิน (Financial Account Balance)               -2,255.7           -1,475.3
      การลงทุนโดยตรง (Direct Investment)                      -685.6             -583.8
      การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)          -5,665.3           -8,303.1
      การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ด้านการเงิน (Financial Derivatives)   -56.1              140.1
      การลงทุนอื่นๆ (Other investments)                        4,151.3            7,271.5
 2.2 ดุลบัญชีทุน (Capital Account Balance)                         -9.6              -85.8
3. ยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Changes in Reserve Assets)    -8.4             -307.6


สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ