Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พ.ย. 2552
Summary:
1. ตลาดรถยนต์เดือนต.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
2. วงการข้าวโลกเตือนรับมือราคาข้าวพุ่ง
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ปี 52
Highlight:
1. ตลาดรถยนต์เดือน ต.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 52 ว่ามีปริมาณการขาย 53,271 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยตลาดรถยนต์นั่งเติบโตร้อยละ 23.4 ต่อปี สูงสุดในรอบปี จากความนิยมอย่างต่อเนื่องของรถยนต์หลายรุ่นทั้งขนาดกลางและเล็ก ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตไม่เปลี่ยนแปลง โดยตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 9 ต่อปี ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์สะสม 10 เดือน มีปริมาณการขาย 419,755 คัน หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี เป็นการหดตัวน้อยที่สุดของปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว
- สศค.วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคในเดือน ต.ค. อื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงที่หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่หดตัวเพียงร้อยละ -2.6 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.5 ต่อปี สะท้อนว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
2. วงการข้าวโลกเตือนรับมือราคาข้าวพุ่ง
- ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวโลกชี้ราคาข้าวทะยานขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในอินเดียและไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจมีโอกาสทุบสถิติปี 51 โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดความต้องการข้าวพุ่งสูงสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศในฟิลิปปินส์ชี้ว่าตลาดโลกอาจจะไม่เจอกับภาวะขาดแคลนข้าว แต่อาจทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น โดยความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติข้าวในปี 53 ราคาข้าวอาจพุ่งขึ้นถึง 2 เท่า ที่ระดับมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาส่งออกข้าวปัจจุบัน ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 520-530 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวนึ่งตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใน 9 เดือนแรกของ 52 มีปริมาณการส่งออกรวม 6.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ จากการที่ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อย่างเวียดนามประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดน้อยลง รวมถึงความต้องการนำเข้าข้าวที่สูงขึ้นของประเทศฟิลิปปินส์และอินเดีย ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ประกอบกับราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ภาคการเกษตรของไทยที่จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ปี 52
- สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 52 ว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยหลักจากการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย
- สศค.วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีความชัดเจนตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาครัฐและการลงทุนในสินค้าคงคลังภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 และ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในสังหาริมทรัพย์ (Private non-residential investment) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน GDP ญี่ปุ่นยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี นอกจากนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งค่ามาก โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 90 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลลบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ญี่ปุ่นจะหดตัวที่ร้อยละ -6.3 ต่อปีในปี 52 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 52)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th