รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 10:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 พ.ย. 2552

Summary:

1. ‘บีโอไอ’ป้องธุรกิจเกษตร ลดหุ้นต่างชาติเหลือร้อยละ 49

2. ธปท. เร่งกรุยทางค้าขายเงินหยวน

3. การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำของชาติพัฒนาแล้วเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตทางการเงิน

Highlight:
1. ‘บีโอไอ’ป้องธุรกิจเกษตร ลดหุ้นต่างชาติเหลือร้อยละ 49
  • เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอเห็นชอบให้ปรับปรุงบัญชีประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม หมวด 1 กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ในเรื่อง ประเภท ขนาด เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบในการเข้ามา ลงทุนของต่างชาติ เนื่องจากเป็นกิจการที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยใน 9 เดือนแรกของปี 52 มีการขอลงทุนผ่าน BOIจำนวน 687 โครงการคิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 176 พันล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน60,671 คน โดยเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาคการเกษตร 28.4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนอันดับ 3 ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุด รองจากการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานจากการให้บริการและการผลิตเหล็ก ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข็งขันเพื่อรองรับการเข้าสู่การเปิดเสรีเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคต
2. ธปท. เร่งกรุยทางค้าขายเงินหยวน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ธปท. จะสนับสนุนผู้ส่งออกที่ทำการค้ากับประเทศจีนและต้องการที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินหยวนแทนเงินเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้ธ.พาณิชย์ไทย 3แห่ง ให้บริการรับฝาก แลกเปลี่ยน ป้องกันความเสี่ยง รวมถึงทำธุรกรรมทางการค้าต่างประเทศที่เป็นเงินหยวน คือ ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย และธ.ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ประเทศไทย โดยมีการทำสัญญากับธนาคารกลางของฮ่องกงในการแลกเปลี่ยนเงิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินโลก (Global Financial Imbalance) ส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศต่างๆ ต้องการพึ่งพาการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก (Reserve Currency) ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ณ ปี 51 คิดเป็นร้อยละ 64.0 ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด โดยมีเงินสกุลยูโรและเยนคิดเป็นร้อยละ 26.5 และ 3.3ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนไม่ได้อยู่ในอันดับดังกล่าว แม้ว่าเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้น ประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับสกุลเงินหยวนให้มากขึ้นในอนาคต
3. การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำของชาติพัฒนาแล้วเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตทางการเงิน
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระบุว่าการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในประเทศพัฒนาแล้วโดยยึดนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะกระตุ้นให้เงินทุนจำนวนมากไหลทะลักเข้ามาในประเทศเศรษฐกิจใหม่และทำให้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวกระเตื่องขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีหากมีกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานอาจทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องเผชิญกับภาวะความร้อนแรงและเกิดความปั่นป่วนทางการเงิน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในบางประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ร้อยละ 0-0.25 ขณะที่ในบางประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยในออสเตรเลียที่ร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะทำให้เกิดปรากฎการณ์ Carry Trade คือ การกู้เงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนซื้อสินทรัพย์ในประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่สมดุลทางการเงินโลก ดังนั้น นโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ต้องคำนึงถึง Exit Strategies ที่เหมาะสมภายหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ