ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 11:53 —กระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 16 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย แม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมทั้งประธานองค์กรการเงินระหว่างประเทศ โดยมีนาย Tharman Shanmugaratnam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นประธานการประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคได้หารือกันในเรื่องต่างๆ ได้แก่

(1) Advancing Growth Initiatives โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ขณะนี้โลกได้ผ่านภาวะวิกฤตต่ำสุดมาแล้ว และอยู่ในระหว่างการฟื้นตัว ดังนั้น ในอนาคตทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของการเจริญเติบโต โดยควรมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ รองรับการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถพึ่งพาการบริโภคได้เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการปฏิรูปในระดับจุลภาคที่สนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะปานกลางและระยะยาว เช่น การเปิดเสรีด้านการค้า การขจัดอุปสรรคทางการค้า เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาตลาดเงิน เป็นต้น

(2) Global Economic Development and Implications for Fiscal Measures ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำหนดมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนด exit strategies แต่การดำเนินการต้องเป็นเวลาที่เหมาะสม ไม่เร็วหรือช้าเกินไป และต้องดำเนินการโดยคำนึงว่ามาตรการดังกล่าวต้องไม่ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังมากเกินไปและเป็นเวลานาน

(3) Facilitating Finance for Sustainable Growth ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีอยู่สูงมาก ไม่สามารถใช้แหล่งเงินจากงบประมาณภาครัฐได้เพียงอย่างเดียว ต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศด้วย และที่สำคัญยิ่งคือ ภาคเอกชนควรเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรจะพิจารณาเสริมสร้างบรรยากาศและเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนให้มาลงทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนสมัยพิเศษ (Special ASEAN Finance Ministers’ Meeting: Special AFMM) ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่หารือ ได้แก่ การติดตามความคืบหน้าในการศึกษาเรื่องการจัดตั้ง ASEAN Infrastructure Fund (AIF) ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ไปศึกษาพัฒนารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป และได้รับทราบรายงานผลการประเมินสถานที่จัดตั้งหน่วยงานระวังภัยทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisations: CMIM) รวมถึงการพิจารณาให้ความเห็นชอบการสร้าความเข้มแข็งให้หน่วยระวังภัยทางเศรษฐกิจของสำนักเลขาธิการอาเซียน (Macroeconomic and Finance Surveillance Office : MFSO) ด้วย

ทั้งนี้ นายกรณ์ฯได้เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (นาย Timothy F. Geithner) ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีการหารือเรื่องภาวะเศรษฐกิจของอาเซียนและสหรัฐอเมริกาหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐยืนยันว่า ยังมีความพร้อมที่จะเดินหน้าในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และยืนยันการให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3627

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 162/2552 16 พฤศจิกายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ