รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2009 10:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 พ.ย. 2552

Summary:

1. GDP Q3 ปี 52 หดตัวน้อยสุดในรอบปี

2. ธปท. หารือคลังเตรียมกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 53 ก่อนเสนอครม.

3. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไต้หวันเดือน ต.ค. 52 ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

Highlight:
1. GDP Q3 ปี 52 หดตัวน้อยสุดในรอบปี
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 3 ปี 52 ว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ชะลอลงมากจากไตรมาส 1 และ 2 ของปี 52 ที่หดตัวถึงร้อยละ -7.1 และ -4.9 ต่อปี ตามลำดับ แต่หากเทียบรายไตรมาสแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เติบโตที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักของการชะลอลงของการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 3 เกิดจากการส่งออกสุทธิ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาค บ่งชี้ว่าภูมิภาคเอเชียมีการฟื้นตัวรวดเร็วกว่าเศรษฐกิจหลัก 3 เศรษฐกิจของโลก หรือ G3 อันได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกันจากการเร่งการเบิกจ่ายของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ -1.3 และ -12.2 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ว่านโยบายทั้งด้านการคลังและการเงินแบบขยายตัวยังคงมีความสำคัญและคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี อนึ่ง สศค. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ก่อนจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ในปี 53 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 52)
2. ธปท. หารือคลังเตรียมกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 53 ก่อนเสนอครม.
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 53 ก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาภายในเดือน ธ.ค. นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ฟื้นขึ้นจากติดลบมาตลอดทั้งปี กลายเป็นบวกในไตรมาส 4 แต่อาจจะเป็นบวกได้ไม่ถึงร้อยละ 0.5 ซึ่งต่ำกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5 - 3.0 ทั้งนี้ สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงที่กระทบอุปสงค์ในประเทศผ่านทางรายได้การส่งออกที่ลดลง สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 53 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่จะสิ้นสุดลงในปลายปี และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น โดย ธปท.ประเมินราคาน้ำมันในตลาดโลกในปีหน้าไว้ที่ 75 - 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 นับเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังจากที่หดตัวติดต่อกันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณในช่วงเดียวกันปีก่อนเริ่มลดต่ำลง ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงนั้น บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 น่าจะกลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงจากปีก่อนอย่างมาก ประกอบกับนโยบายลดค่ารองชีพ (5 มาตรการ 6 เดือน) ทำให้ สศค. คาดว่าเงินเฟ้อในปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.8 สำหรับในปี 53 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 — 3.0 ต่อปี ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น (คาดการณ์ ณ ก.ย. 52)
3. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไต้หวันเดือน ต.ค. 52 ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
  • ไต้หวันประกาศตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกดือน ต.ค. 52 พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่ ก.ย. 51 ซึ่งเป็นผลจากสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลให้ไตรมาส 4 มีการขยายตัวดีขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าวว่า ประเทศจีนมีความต้องการวัตถุดิบที่สำคัญจากไต้หวันเป็นอย่างมาก จึงสามารถทำให้ยอดคำสั่งซื้อจากการส่งออกของไต้หวันขยายตัวดีขึ้นในครั้งนี้ สำหรับยอดคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไต้หวันในเดือน ต.ค. 52 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 12 — 15 โดยคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 300 — 310 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ประมาณ 310 — 320 ล้านดอลลาห์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไต้หวันเดือน ต.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.7 ต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไต้หวันได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศจีน ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อของการส่งออกในเดือน ต.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในไตรมาส 4 ปี 52 การส่งออกมีการขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ที่หดตัวอยู่ที่ -20.8 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไต้หวันในปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -6.3 ต่อปี และจะกลับมาเป็นขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 หรือช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 — 4.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ