Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พ.ย. 2552
Summary:
1. คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง
2. ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ต.ค. 52 เพิ่ม 104.3 สูงสุดรอบ 3 ปี ครึ่ง
3. เศรษฐกิจยุโรปเตรียมพ้นภาวะถดถอย
Highlight:
1. คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เนื่องจากพบว่าล่าสุดจนถึงวันที่ 13 พ.ย.2552 มีการเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 27.16 ของมูลค่าการลงทุนได้รับการอนุมัติไปแล้ว 63,890 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17,352 ล้านบาทเท่านั้น โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเบิกจ่ายตามแผนอย่างเคร่งครัดและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มบทบาทให้คลังจังหวัดไปติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย
- สศค. วิเคราะห์ว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ในกรอบวงเงิน 1.435 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่มีความพร้อมเริ่มดำเนินงานภายในปี 53 (Tier 1) จำนวน 1.295 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่เน้นสาขาขนส่ง (ร้อยละ 28.6) สาขาชลประทาน (ร้อยละ 17.5) สาขาพลังงาน (ร้อยละ 12.1) เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าโครงการลงทุนดังกล่าวมีการเบิกจ่ายภายในปี 53 จำนวน 563.5 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือ 366.6 พันล้านบาท และ 365.8 พันล้านบาท ในปี 54 — 55 ตามลำดับ
2. ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ต.ค. 52 เพิ่ม 104.3 สูงสุดรอบ 3 ปี ครึ่ง
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือน ต.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 104.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. ที่ระดับ 95.9 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่เกินระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 42 เดือน (3 ปีครึ่ง) และสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 49 ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยทุกตัวดีขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนผู้ประกอบการ และผลประกอบการ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างจีน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้นถึงระดับ 104.3 นั้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากอุตสาหกรรมประเภทยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิส์ เป็นต้น บ่งชี้ถึงสัญญาณบวกของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค.52ที่หดตัวลดลงมากที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เน้นการผลิตเพื่อส่งออกมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น
3. เศรษฐกิจยุโรปเตรียมพ้นภาวะถดถอย
- นักวิเคราะห์เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี โดยคาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 4/52 จะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/52 ซึ่งจะสามารถขยายตัวได้ 2 ไตรมาสติดต่อกัน นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถหลุดจากภาวะดังกล่าวได้แล้ว โดยเฉพาะในเอเชีย ทั้งนี้ เศรษฐกิจอียูช่วงไตรมาส 3/52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 หลังจากติดลบติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส และคาดว่าในไตรมาส 4 สมาชิกอียูในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกจะขยายตัวแซงหน้ากลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ไม่เพียงเท่านั้นยุโรปตะวันออกยังเป็นภูมิภาคที่ขยายตัวช้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลข GDP เบื้องต้นของสหภาพยุโรปในไตรมาส 3/52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (qoq:sa) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากเศรษฐกิจประเทศเยอรมันและฝรั่งเศสที่สามารถผ่านพ้นภาวะถดถอยได้ก่อนประเทศอื่นๆ คือ GDP ในไตรมาส 3 และ 2 ขยายตัวติดต่อกันที่ร้อยละ 0.7, 0.4 และ 0.3, 0.3 (qoq:sa) ตามลำดับ ส่วนในไตรมาสที่ 4/52 คาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลังตัวเลขเครื่องชี้ในภาคการผลิตและบริการในเดือน พ.ย.ออกมาดีกว่าที่คาด โดยดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น (Flash Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 51.0 อยู่เหนือระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีคำสั่งซื้อภาคบริการเบื้องต้น (Flash Service PMI) อยู่ที่ระดับ 53.2 สูงที่สุดในรอบ 2 ปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th