รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 27, 2009 10:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 พ.ย. 2552

Summary:

1. ธปท.เป็นห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

2. ธ.กสิกรไทยเชื่อ ธปท. ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ หวั่นเงินทุนไหลเข้ากดดันค่าเงินบาท

3. คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯในเดือน ต.ค. 52 ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์

Highlight:
1. ธปท.เป็นห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
  • เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ยังคงมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น โดยเป็นห่วงว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาขนให้สูงขึ้นและไม่น่าจะกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.4 ต่อปีเป็นผลมาจากการปรับฐานอัตราภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในปีที่ผ่านมา แต่มิได้มาจากความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบ Dubai ในระยะนี้ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบารเรล์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในด้านการก่อสร้างยังคงได้รับอานิสงส์จากอระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำจึงเป็นแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่ม สะท้อนได้จากตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และเดือน ต.ค. ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อดูแลเสถียรภาพทางด้านราคาในช่วงนี้ยังคงมีความจำเป็นอย่างมีนัยยะสำคัญ
2. ธ.กสิกรไทยเชื่อ ธปท. ไม่ขึ้นดอกเบี้ยก่อนสหรัฐฯ หวั่นเงินทุนไหลเข้ากดดันค่าเงินบาท
  • ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธ.กสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยว่า เริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ยังไม่มีปัจจัยมากระตุ้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้คาดว่าธปท.จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าประเทศสหรัฐ เพราะอาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะยากต่อการควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยประเมินว่า สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2553 ที่ระดับ 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0-0.25%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภายในสิ้นปี 2553 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(RP 1 วัน) จะมีแนวโน้มค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.25-1.75 ต่อปี จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเงินเฟ้อปรับตัวตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น และจากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านปฏิบัติการไทยเข้มแข็งในปี 2553 อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอื่นของภูมิภาค
3. คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯในเดือน ต.ค. 52 ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์
  • คำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Order) เดือนต.ค. 52 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนหักขนส่ง (Ex-Transportation) หดตัวที่ร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยการปรับตัวที่ลดลงของคำสั่งซื้อสินค้าคงทนนั้น มีสาเหตุสำคัญจากการหดตัวในคำสั่งซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวถึงร้อยละ -8.0 จากเดือนก่อนหน้า การปรับตัวลดลงดังกล่าวเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -0.5 ทั้งนี้ คำสั่งซื้อสินค้าคงทนนั้นเป็นดัชนีบงชี้ถึงสภาวะภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เป็นการส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐยังเป็นไปอย่างเปราะบาง นอกจากนี้ คาดว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง จากการที่ทางการสหรัฐฯ อาจเริ่มลดหรือยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากมาตรการ “Cash for Clunkers” ที่หมดลงในเดือนส.ค. 52 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค 52 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.7

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ