รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 — 27 พฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2009 10:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary:

Indicators this week

Real GDP ในไตรมาส 3 ปี 52 หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี เป็นการหดตัวน้อยกว่าไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -4.9ต่อปี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการใช้จ่ายภายในประเทศแป็นหลัก

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณเดือน ต.ค. 52 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 90.3 พันล้านบาท

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 52 กลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี หลังจากที่เดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค.52 มีจำนวน 1.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี

Indicators next week
       Indicators           Forecast       Previous
Nov :  CPI (%YOY)              2.3            0.4
  • เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกอีกทั้งราคาพืชผลเกษตรดีขึ้นเป็นสำคัญ
Oct:  Iron Sales (%YOY)       17.0           28.4
      Cement Sales (%YOY)      5.0            4.2
  • เนื่องจากการฟื้นตัวของการของการลงทุนภายในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์และเหล็กยังขยายตัวต่อเนื่อง

Economic Indicators: This Week

Real GDP ในไตรมาส 3 ปี 52 หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี เป็นการหดตัวน้อยกว่าไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี และหากปรับฤดูกาลแล้วเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้ว จะพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการใช้จ่ายภายในประเทศแป็นหลัก

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 52 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 90.3 พันล้านบาท โดยเป็นผลมาจากในเดือนต.ค. 52 พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ต.ค.52 ส่งผลให้การเบิกจ่ายได้เฉพาะรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีเบิกจ่ายได้จำนวน 80.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 ของกรอบวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 79.5 และ 0.7 พันล้านบาท ตามลำ ดับ ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้แล้ว อาจส่งผลให้การเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 เป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 94.0

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 52 กลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี หลังจากที่เดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี(ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากการหดตัวอย่างมากของอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย และเครื่องหนัง แต่หากพิจารณาเป็นรายเดือนแล้ว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากการผลิตทั้งที่เน้นส่งออกและตลาดภายในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัว ผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกที่เริ่มฟื้นตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนต .ค .52 อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 95.9 โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบทุกตัวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ รวมถึงยอดขายต่างประเทศสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 42เดือน อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ดัชนีดังกล่าวในเดือน ต .ค 52 .จะอยู่ที่ระดับ 98.2ปรับตัวสูงขึ้นมากจากระดับ 90.4 ในเดือน ก .ย 52 .อีกทั้งผู้ประกอบการยังคงมีความวิตกกังวลในปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองความผันผวนของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค.52 มีจำนวน 1.2 ล้านคนคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี ปรับตัวมาเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากทวีปเอเชียและยุโรปเพิ่มมากขึ้นโดยมีการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 12.2 และ 14.2 ต่อปี ตามลำดับ

Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 52 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ2.3 ต่อปี ซึ่งจะนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากหดตัวติดต่อกันมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปี สาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณในปีที่ผ่านมาเริ่มมีค่าต่ำลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงนั้น ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 (%mom) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้

ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศในเดือน ต.ค.52คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 และ 17.0 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของการของการลงทุนภายในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น

Major Trading Partners’ Economies: This Week

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปีขยายตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) หาก พิจารณาการขยายตัวรายไตรมาสที่ปรับฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกที่หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -13.6 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -18.1 ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐบาล ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 และ 5.4 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.4 และ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับการลงทุนยังคงหดตัวที่ร้อยละ -11.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -10.3 ต่อปี

เศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -7.5 ต่อปี โดยสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ไต้หวันในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น บ่งชี้ได้จากอัตราการว่างงานที่เริ่มปรับตัวลดลงและการขยายตัวของภาคการส่งออกที่ได้แรงสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์โลก

เศรษฐกิจมาเลเซียหดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 ปี 52 หดตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ -3.9 ต่อปี ผลจากการใช้จ่าย ภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 10.9 และ 1.5 ต่อปีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 และ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -7.9 ต่อปี จากร้อยละ -9.6 ต่อปี นอกจากนี้การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวชะลอลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -13.4 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค.52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ที่ร้อยละ 10.1 จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวนบ้านต่อปีที่ 6.10 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 5.54 ล้านหลัง เนื่องจากการเร่งซื้อบ้านเพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อน ภาษีสำหรับการซื้อบ้านใหม่ของรัฐบาลที่กำหนดไว้เดิมให้สิ้นสุดในเดือน พ.ย.52 (ได้มีการขยายเวลาของมาตรการดังกล่าวออกไปจนถึง มิ.ย. 52) สำหรับราคา กลางบ้านมือสอง (Median Home Price) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 173,100 ดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายบ้านมือสองยังสอดคล้องกับยอดจำหน่ายบ้านใหม่ในเดือน ต.ค. 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากเดือนก่อนหน้าหรือคิดเป็นจำนวนบ้านต่อปีที่ 0.430 ล้านหลัง

คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้าขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนหักขนส่ง (Ex-Transportation) หดตัวที่ร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจากคำสั่งซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวถึงร้อยละ -8.0 จากเดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมยังมีความเปราะบาง

มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -26.5 ต่อปีและเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 (%m-o-m)ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าประเภทเหล็กไปยังจีน ขณะที่การนำเข้าในเดือน ต.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -35.6 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 807.1 พันล้านเยน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือน ก.ย.52 หดตัวร้อยละ -25.0 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี ผลจากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าหลักซึ่งได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ยังคงหดตัวสูงที่ร้อยละ -22.1 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -21.1 ต่อปี และสินค้าในกลุ่มพลังงานที่หดตัวร้อยละ-30.6 ต่อปี ทั้งนี้ ในเดือนก.ย. 52 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซนเบื้องต้น (Flash Mfg PMI) เดือน พ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 51.0 อยู่เหนือระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สำหรับดัชนีคำสั่งซื้อภาคบริการเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 53.2 สูงที่สุดในรอบ 2 ปี ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ ดัชนีคำสั่งซื้อรวม (Flash composite PMI) อยู่ที่ระดับ 53.7 อย่างไรก็ดี ดัชนีคำสั่งซื้อเบื้องต้น (Flash Mfg Orders) ในเดือน พ.ค.52 กลับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.6 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ของประเทศไต้หวันในเดือนต.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.56 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.66 ต่อปี สอดคล้องกับ อัตราการว่างงานในเดือนต.ค. 52 ที่ร้อยละ 6.04 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับร้อยละ 6.09 ของแรงงานทั้งหมด บ่งชี้ถึงแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจในประเทศไต้หวันที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางการเวียดนามประกาศปรับลดค่าเงินดองร้อยละ 5.44 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.52 จากปัญหาการขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นของเวียดนาม พร้อมทั้งปรับลดการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในช่วงที่แคบลงจากร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 3.0 ในขณะเดียวกัน ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.0 มา อยู่ที่ร้อยละ 8.0 จากความกังวลต่อความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ