- ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวแต่ดัชนีค่าเงินบาทบ่งชี้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
- ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 680 จุดในช่วงปลายสัปดาห์
- อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยและสหรัฐปรับตัวลดลง
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
- ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในขณะที่ราคาทองยังคงปรับตัวสูงขึ้นผ่านระดับ 1,180 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไปในช่วงกลางสัปดาห์ที่ประมาณ33.1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก่อนที่จะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับต้นสัปดาห์ที่ประมาณ 33.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทซึ่งถัวเฉลี่ยกับเงินสกุลของคู่ค้าหลักพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.71
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ วันที่ 20 พ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 153.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มการถือครองจากฐานะ forward ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ฐานะ spot ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์โดยมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 680 จุด สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงจากจากความกังวลในปญหาการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ซึ่งเป็นการ default หนี้ที่ใหญ่ที่สุดนับจากกรณีประเทศอาเจนติน่าในปี 2001
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Dow Jones ในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในช่วงแคบ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ค่อนข้างขัดแย้งกัน โดยทางการสหรัฐฯปรับ GDP (เบื้องต้น)ในไตรมาสที่ 3 ลงในขณะที่ยอดการขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงต่ำกว่า 5 แสนคน ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ Dow Jones จะปิดในวันพฤหัสเนื่องจากเป็นวันหยุด Thanks giving
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทย (Thai baht fixing) ทรงตัวก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาในวันนี้ สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ (US LIBOR) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าหลังจากที่ FED ส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำไปจนถึงช่วงสิ้นปี 2010 อีกทั้งอัตรา US LIBORได้รับผลกระทบจากการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัท Dubai World
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยในช่วงกลางสัปดาห์ ผลตอบแทนระยะปานกลางช่วง 3-7 ปีปรับตัวลดลงเนื่องจากมีความต้องการซื้อจากทั้งในและนอกประเทศเข้ามาแต่ปริมาณอุปทานของพันธบัตรในช่วงระยะดังกล่าวไม่เพียงพอ ในขณะที่ผลตอบแทนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากที่มีแรงขายจากธนาคารต่างชาติเพิ่มเข้ามา
ราคาน้ำมันดิบ Dubai ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 76 ดอลลาร์ต่อบารเรล์ในช่วงปลายสัปดาห์ ในขณะที่ตลาดล่วงหน้าคาดว่าราคาน้ำมันดิบ NYMEX จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 76 - 79 ดอลลาร์ต่อบารเรล์ในช่วงอีก 5 เดือนข้างหน้า ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ในช่วงระดับ 78 - 81 ดอลลาร์ต่อบารเรล์
ราคาทองยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงปลายสัปดาห์ ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นผ่านระดับ 1,180 ตามความต้องการที่จะลงทุนในทองคำที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องสอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ยังค่อนข้างทรงตัวและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับได้รับกระแสการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อมาลงทุนใน Commodities (Carry-trade)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th