Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ธ.ค. 2552
Summary:
1. ศาลปกครองมีคำสั่งเดินหน้า 11 จาก 76 โครงการมาบตาพุด
2. ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 %
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี
Highlight:
1. ศาลปกครองมีคำสั่งเดินหน้า 11 จาก 76 โครงการมาบตาพุด
- ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการลงทุน 76 โครงการในมาบตาพุดไว้ก่อน โดยให้ 11โครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถเดินหน้าได้ ได้แก่ โครงการประเภท คมนาคม พลังงานสะอาด และลดมลภาวะ ส่วนโครงการที่เหลือ โดยเฉพาะโครงการประเภทปิโตรเคมี ท่อส่งฯ เหล็ก และกำจัดของเสีย ให้ระงับไว้ก่อนตามคำสั่งเดิม เพราะเชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตามหากในอนาคตโครงการที่เหลือมีการดำเนินการภายใต้ มาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ก็สามารถยื่นขอออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ในภายหลัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การอนุญาตให้โครงการทั้ง 11 โครงการสามารถดำเนินการต่อได้นั้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโครงการมาบตาพุด ซึ่งจะช่วยนำความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่การลงทุนภาคเอกชนได้ ถึงแม้ว่าโครงการที่เหลืออีก 65 โครงการยังจะโดนระงับต่อไป แต่ก็สามารถปรับปรุง แก้ไขรายละเอียดโครงการใหม่ และยื่นออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ ทั้งนี้ 11 โครงการดังกล่าว มีเงินลงทุนรวมกันกว่า 58,405 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญเช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของบมจ.ปตท. โครงการเชื้อเพลิงสะอาด บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง และไบโอดีเซล บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์
2. ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 %
- ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับเพิ่มอีก 0.25 % มาอยู่ที่ 3.75 % ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียกล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า เนื่องจากออสเตรเลียสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ และประสบความสำเร็จจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 4.2 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย ประกอบกับดีมานด์สินแร่เหล็กจากจีนและประเทศอื่นๆในเอเชียที่สูงขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัวขึ้น จากตัวเลขจีดีพีโดยรวมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของออสเตรเลียขยายตัวอย่างรวดเร็วซึ่งจะช่วยให้ยอดส่งออกของออสเตรเลียแข็งแกร่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ในไตรมาส 2 ออสเตรเลียมีอัตราการเติบโต ที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งดีที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และสศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 52 และ 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 และ 2.0 ต่อปี ตามลำดับ
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และเดือนตุลาคมระบุว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ คำสั่งซื้อสินค้าทั้งจากในและต่างประเทศ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รายได้ภาคเกษตร ภาวะการจ้างงานและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจยังมีการอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีการฟื้นตัว และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเป็นบวกอีกครั้งโดยในเดือน ต.ค. และ พ.ย.52 หลังจากที่ติดลบมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งเป็นผลจาก (1) การปรับเพิ่มของราคาน้ำมัน และ (2) การปรับเกณฑ์ของนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน แต่ ธปท. ยังคงเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังคงขยายตัวในระดับใกล้ศูนย์ ซึ่งแสดงถึงแรงกดดันของเศรษฐกิจต่อภาวะเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่หลายฝ่ายคาดในช่วงกลางปี 53
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th