เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2552 บริษัท Dubai World ซึ่งเป็นบริษัท Holding Company ของรัฐดูไบประกาศหยุดพักชำระหนี้ที่มีกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2552 จำนวนประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก
สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบของการหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ผ่านภาคการเงิน (Financial Impacts) อยู่ในวงจำกัด เนื่องจาก สถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Exposure กับกลุ่มบริษัท Dubai World และมีการลงทุนในตะวันออกกลางน้อยมาก อีกทั้งสถาบันการเงินไทยมีฐานะที่เข้มแข็งสามารถรองรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการผิดนัดชำระหนี้ของ Dubai World ได้ ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector impacts) ทั้งในด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวก็อยู่ในวงจำ กัดเช่นกัน เพราะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยและรัฐดูไบคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย
สศค. วิเคราะห์ว่า การหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ในครั้งนี้ แม้จะไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการรองรับความผันผวนจากเหตุการณ์การเงินในดูไบ ดังนี้ ในระยะสั้น (1) ควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิดผ่าน Emergency Economic Resolution Committee ที่มีกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมเป็นคณะทำงานอยู่ด้วย (2) ควรมีมาตรการรองรับผลกระทบต่อแรงงานไทยในดูไบที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Dubai World ในระยะปานกลางถึงยาว (1) ควรประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิก ASEAN+3 ผ่านกลไกความร่วมมือการเงินเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่ประเทศสมาชิกสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันหากประเทศสมาชิกมีปัญหาเงินทุนไหลออกหรือปัญหาดุลการชำระเงิน และ (2) ควรเร่งดำเนินนโยบายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศ เพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออก อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศ
เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2552 บริษัท Dubai World ประกาศหยุดพักชำระหนี้ที่มีกำหนดชำระเดือนธันวาคม 2552 จำนวนประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐออกไปอีก 6 เดือน (จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553) และจะปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากจำนวนหนี้ทั้งหมดประมาณ 59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ Dubai World เป็นบริษัท Holding Company ของรัฐดูไบ ซึ่งมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Luxury Real Estate) อาทิ โครงการ Palm Islands
แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลดูไบจะได้เข้าช่วยเหลือ Dubai World ด้วยการเพิ่มทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและล่าสุดธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศว่าจะให้วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจาก Dubai World การประกาศหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ในครั้งนี้อยู่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลก โดยหลังการประกาศหยุดพักชำระหนี้ ดัชนีค่าความเสี่ยงของรัฐดูไบ (Credit Default Swap: CDS) ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 310 เป็น 645 Basis Points และล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s และ S&P ได้ปรับลด rating หุ้นกู้ของบริษัทในเครือ Dubai World เป็นสถานะไม่น่าลงทุน หรือ Junk Bond Status
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์ผลกระทบของการประกาศหยุดพักชำระหนี้ต่อเศรษฐกิจไทยต่อภาคการเงิน (Financial Impacts) และภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector impacts) ดังนี้
2.1 ผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย การหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World มีผลกระทบต่อภาคการเงินของไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ผลกระทบทางตรงต่อสถาบันการเงินของไทยที่ได้ปล่อยกู้ให้บริษัท Dubai World (Direct Financial Exposure) (2) ผลกระทบทางอ้อม (Indirect Financial Exposure) อันได้แก่ ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยจากการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการหยุดพักชำระหนี้ในลักษณะคล้ายคลึงกับ Dubai World และผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนไทยหากนักลงทุนต่างประเทศที่ตื่นตระหนกจากสถานการณ์ Dubai World ได้ถอนการลงทุนออกจากภูมิภาคได้ถอนการลงทุนออกจากภูมิภาค ดังแสดงในภาพที่ 1
(1) ผลกระทบทางตรงต่อสถาบันการเงินของไทย จากข้อมูลที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผลกระทบทางตรงต่อสถาบันการเงินของไทยมีไม่มากนักเนื่องจากการลงทุนใน Dubai World มีน้อยมาก กล่าวคือ
- ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มิได้ปล่อยกู้ให้บริษัท Dubai World โดยมีเพียง 3 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้ปล่อยกู้ให้บริษัท Dubai World โดยตรงหรือปล่อยกู้ให้กับบริษัทร่วมทุน (Joint-Venture) กับ Dubai World ทั้งนี้ ยอดรวมการปล่อยกู้มีทั้งสิ้นประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.5 พันล้านบาท
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (กองทุน FIF) ไม่มีการลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทในเครือ Dubai World
- บริษัทประกันภัยของไทยในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มิได้มีการลงทุนในบริษัท Dubai World มีเพียงแห่งเดียวที่ได้ลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวของบริษัท Dubai World ในจำนวนที่ไม่มากนักเพียง 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.5 พันล้านบาท
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่าความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินของไทยจากการปล่อยกู้และการลงทุนโดยตรงใน Dubai World มีไม่มากนัก เนื่องจากมูลค่าความเสี่ยง (Exposure) คิดเป็นสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 0.1 ของมูลค่าทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง
(2) ผลกระทบทางอ้อมต่อสถาบันการเงินของไทย ได้แก่ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัท Dubai World แต่อาจได้รับผลกระทบจากการประกาศหยุดพักชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ได้โดยแบ่งเป็น
- การลงทุนของสถาบันการเงินไทยในตะวันออกกลางซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการหยุดพักชำระหนี้ในลักษณะคล้ายคลึงกับ Dubai World จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กองทุนรวมของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศบางกองได้มีการลงทุนในพันธบัตรของรัฐอาบูดาบีและประเทศกาตาร์ และในหุ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ดังเช่น Dubai World ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวมีเม็ดเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 1.577 พันล้านบาท
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่า ความเสียหายต่อสถาบันการเงินของไทยมีไม่มากนัก เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินของสถาบันการเงิน อีกทั้งสถานะทางการเงินของรัฐอาบูดาบีและรัฐกาตาร์ยังมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้สถานการณ์ของ Dubai World ยังไม่มีแนวโน้มที่ว่าจะลุกลามไปสู่ตะวันออกกลาง ดังเห็นได้จากดัชนีความเสี่ยง CDS ของกาตาร์และรัฐอาบูดาบีที่ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าดัชนี CDS ของรัฐดูไบนัก
ตารางที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของ CDS
CDS 5Y 2-ธ.ค. 30-พ.ย. 27-พ.ย. 26-พ.ย. 20-พ.ย. Dubai 485 645 435 435 310 Korea 100 100 111 102 90 Thailand 103 105 115 95 100
ที่มา: Reuters, รวบรวมโดย สศค.
- ความเสี่ยงจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่างชาติที่อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาค โดยภายหลังการประกาศหยุดพักชำระหนี้ของ
เงินทุนไปสู่ทรัพย์สินที่ปลอดภัยกว่า (Safe Haven) อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ CDS ของดูไบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจาก 310 basis points มาอยู่ที่ 645 ในขณะที่ CDS ของประเทศในภูมิภาคได้ปรับขึ้นบ้าง (ตารางที่ 1)
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคไปสู่ Safe Haven นั้น ไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก โดยเห็นได้จากดัชนีความเสี่ยงของประเทศไทย ที่วัดจาก CDS ในประเทศไทยทรงตัวในระดับประมาณ 100 Basis Points ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม CDS ของดูไบมากนัก (ตารางที่ 1) สะท้อนถึงมุมมองของนักลงทุนที่มองความเสี่ยงจาก Dubai World ไม่น่าจะกระทบถึงเศรษฐกิจไทย ประกอบกับในระยะต่อมาที่ CDS ทั่วโลกรวมทั้งดูไบได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวได้ลดลงแล้ว นอกจากนี้ จากสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินไทยที่เข้มแข็งดังเห็นได้จากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) ที่สูงถึงร้อยละ 16.5 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ร้อยละ 8.5 ค่อนข้างมาก อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ 135.3 พันล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 5.5 เท่าของมูลค่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ทำให้ ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอหากนักลงทุนต่างชาติเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็วอันเป็นผลของความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การเงินโลก
- ความเสี่ยงของคู่สัญญา (Counterparty Risk) ที่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้และลงทุนกับ Dubai World โดยความเสี่ยง Counterparty Risk นี้เกิดขึ้นเมื่อการผิดนัดชำระหนี้ของ Dubai World ทำให้สถานะทางการเงินของคู่สัญญาสั่นคลอนจนอาจถึงขั้นล้มละลายหรือไม่สามารถชำระหนี้ต่อคู่สัญญาฝ่ายไทยได้ จากข้อมูลที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สถาบันการเงินหลักที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ Dubai World ได้แก่ Bank of America, Barclays Capital, Calyon, Citi, Deutsche, ING, JPM, HSBC, Lloyds, Morgan Stanley, Nomura, RBS, UBS และ Dubai Islamic Bank
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่า สถาบันการเงินที่มี Exposure กับบริษัทในเครือ Dubai World ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ที่ผ่านมาจึงยังคงมีความเปราะบางในด้านสถานะทางการเงิน อันเป็นความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินไทยที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ ดังนั้น สศค. เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินต่างประเทศที่ได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ Dubai World อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเหล่านี้เพื่อป้องกันความเสียหายจาก Counterparty Risk
2.2 ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector impacts) การหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ การค้าสินค้าและบริการ การจ้างงาน และการลงทุน
(1) ผลกระทบด้านการค้าสินค้าและบริการ มีไม่มากนัก เนื่องจาก
- การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 1.6 ของการส่งออกรวม (ตารางที่ 2) โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มูลค่า 2004.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หากเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หดตัวลง ก็จะไม่มีผลต่อการส่งออกไทยมากนักอย่างไรก็ตาม ในหมวดสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในสัดส่วนที่สูง อันได้แก่ รถยนต์ ข้าว เครื่องปรับอากาศ และวัสดุก่อสร้าง อาจได้รับผลกระทบบ้าง
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2550 2551 ม.ค.—ต.ค.2552 มูลค่าการส่งออกไป UAE (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 2,209.7 2,793.7 2,004.2 สัดส่วนการส่งออกไป UAE ต่อการส่งออกไทยทั้งหมด (%) 1.4 1.6 1.6 อัตราการขยายตัวของการส่งออก (%yoy) 49.7 26.4 -15.0
- การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6.2 ของการนำเข้าโดยรวม (ตารางที่ 3) โดยสินค้านำเข้าหลักได้แก่ น้ำมันดิบ ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก โดย สศค .เห็นว่า ผลกระทบจาก Dubai World ต่อการนำเข้าน้ำมันของไทยจะไม่มาก เนื่องจากน้ำมันดิบที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งออกนั้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิตจากรัฐอาบูดาบีซึ่งมิได้ประสบปัญหาเช่นเดียวกับรัฐดูไบ
ตารางที่ 3 มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2550 2551 ม.ค.—ต.ค.2552 มูลค่าการนำเข้าจาก UAE (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 6,836.0 11,151.8 5,018.3 สัดส่วนการนำเข้าจาก UAE ต่อการนำเข้าของไทย (%) 4.9 6.2 4.7 อัตราการขยายตัวของการนำเข้า (%yoy) -4.0 63.1 -46.0
- ภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสัดส่วนน้อย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระหว่างเดือนมกราคม -ตุลาคมกันยายนในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 70,182 คน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.63 ของจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยทั้งหมด (ตารางที่ 4) ดังนั้น หากเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ชะลอตัวลง ก็ไม่น่าจะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมมากนัก อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยสูง จึงอาจมีผลกระทบต่อรายได้ของภาคการท่องเที่ยวได้
ตารางที่ 4 สถิตินักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
2549 2550 2551 ม.ค.—ต.ค.2552 จำนวนนักท่องเที่ยวจาก UAE (คน) 69,509 74,957 95,490 70,182 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวทั้งหมด (%) 0.50 0.52 0.65 0.63 รายได้จากนักท่องเที่ยวจาก UAE (ล้านบาท) 2,779 2,779 3,574 n/a สัดส่วนต่อรายได้ทั้งหมด 0.58 0.66 0.61 n/a รายได้เฉลี่ยต่อหัว (บาท) 39,976 37,070 37,426 n/a ที่มา: CEIC
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่า จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีสัดส่วนน้อย ทำให้การประกาศหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวของไทยมากนัก
(2) ผลกระทบด้านการจ้างงาน
จากข้อมูลที่ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า แรงงานไทยที่จดทะเบียนไปทำงานในดูไบกับกรมการจัดหางานระหว่างเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,084 คน (ตารางที่ 5) นอกจากนี้ ทราบพบว่า Dubai World ได้ปลดคนงานถึงร้อยละ 15 ของจำนวนคนงานทั้งหมดในเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา
ปี 2550 2551 2552 (ม.ค.-พ.ย.) แรงงานไทยในดูไบ (คน) 7,419 8,927 5,084 ที่มา: กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่า แรงงานไทยในดูไบอาจได้รับผลกระทบจากการปลดคนงานใน Dubai World และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในรัฐดูไบ ดังนั้น ควรมีมาตรการรองรับผลกระทบต่อแรงงานไทยเหล่านี้ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์แรงงานในประเทศที่ดีขึ้นในปัจจุบัน ดังเห็นได้จากตัวเลขการว่างงานในเดือนกันยายน 2552 ที่มีอยู่เพียงประมาณ 4.5 แสนคน (ร้อยละ 1.2 ของแรงงานทั้งหมด) ดังนั้น คาดว่าตลาดแรงงานไทยจะสามารถรองรับหากคนงานไทยในดูไบกลับมาทำงานในประเทศได้
(3) ผลกระทบด้านการลงทุน การลงทุนของไทยในดูไบมีไม่มากนัก ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรง จากดูไบมาประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Dubai World โดยจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า
- การลงทุนโดยตรงของไทยในดูไบส่วนใหญ่อยู่ในสาขารับเหมาก่อสร้าง โดยมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทยแห่งหนึ่งที่ได้เคยรับงานก่อสร้างจากบริษัท Dubai World อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทนี้มิได้รับงานเพิ่มเติมจาก Dubai World แล้ว อีกทั้งยังได้ปิดความเสี่ยงจากการค้างชำระหนี้ของ Dubai World โดยได้ตั้งหนี้สูญ
- การลงทุนของดูไบในไทยส่วนใหญ่อยู่ธุรกิจโรงแรมหรูหรา จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับเป็นนักลงทุนที่สำคัญระดับหนึ่งของไทย โดยระหว่างปี 2004 ถึงปัจจุบัน BOI ได้มีมูลค่าการลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI แล้วประมาณ 12 พันล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 91 อยู่ในสาขาโรงแรม (ตารางที่ 6) และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า บริษัทในเครือของ Dubai World ได้ร่วมลงทุนใน Luxury Hotel 2 แห่งในใจกลางเมืองกรุงเทพมูลค่าการลงทุน 11,019 ล้านบาท
ตารางที่ 6 การลงทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI ระหว่างปี 2004 - ปัจจุบัน
ประเภทกิจการ มูลค่าการลงทุน สัดส่วนของมูลค่า การจ้างงาน สัดส่วนของการ (ล้านบาท) การลงทุนรวม(%) (คน) จ้างงานรวม(%) โรงแรม 11,019 91 505 16 ภาพยนตร์ 200 2 24 1 ชิ้นส่วนรถยนต์ 346 3 777 25 เหล็กและอุปกรณ์ 246 2 800 26 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 110 1 162 5
ที่มา: BOI และประมวลโดย สศค.
ผลกระทบ: สศค. วิเคราะห์ว่าสำหรับการลงทุนที่ Dubai World ได้ลงทุนไปแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในทรัพย์สินที่มีคุณภาพสูง จึงน่าจะมีผู้สนใจมาซื้อหากผู้ลงทุนเดิมต้องการขาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาการพักชำระหนี้ของ Dubai World อาจส่งผลต่อการลงทุนใหม่ได้
สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าความผันผวนจากเหตุการณ์การหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ในครั้งนี้ จะไม่ได้มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปสู่สถาบันการเงินอื่นๆ ของโลกและอาจเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตเศรษฐกิจได้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของโลกได้อย่างใกล้ชิด ประเทศไทยควรมีมาตรการรองรับดังนี้
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยใช้กลไกการประชุม Emergency Economic Resolution Committee ที่มีกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นคณะทำงานร่วมอยู่ด้วย
2. ควรมีมาตรการรองรับผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปลดคนงานไทยในรัฐดูไบ
1. ประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิก ASEAN+3 ผ่านกลไกความร่วมมือการเงินเชียงใหม่(Chiang Mai Initiative) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (เกาหลี ญี่ปุ่น จีน) ในเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันหากประเทศสมาชิกประสบปัญหาดุลชำระเงินหรือปัญหาเงินทุนไหลออกฉับพลัน
2. ควรมีการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศ เพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออก
โดยสรุป ผลกระทบของการหยุดพักชำระหนี้ของ Dubai World ผ่านภาคการเงิน (Financial Impacts) อยู่ในวงจำกัด เนื่องจาก สถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Exposure กับกลุ่มบริษัท Dubai World และมีการลงทุนในตะวันออกกลางน้อยมาก กอปรกับ ฐานะการเงินของสถาบันการเงินไทยที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามตลาดทุนตลาดเงินไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนบ้าง ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector impacts) ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวก็อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เพราะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยและรัฐดูไบคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th