รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 10:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ธ.ค. 2552

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 69.1 ดีขึ้นจากเดือนก่อน

2. สมาคมยางพาราไทยคาดว่าราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2553

3. ญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณ 81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

Highlight:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 69.1 ดีขึ้นจากเดือนก่อน
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือนพ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 69.1 ดีขึ้นจากเดือนต.ค. 52 ที่อยู่ที่ระดับ 68.0 โดยได้รับปัจจัยบวกเนื่องจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ของปี 52 อยู่ที่ร้อยละ -2.8 ซึ่งดีกว่า GDP ของสองไตรมาสแรกมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จาก GDP ในไตรมาส 3/52 ที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี น้อยกว่า 2 ไตรมาสแรกที่ร้อยละ -6.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกและรายได้ของประชาชน และ 2.) นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป โดยเฉพาะ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) และนโยบายขยายสินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มส่งผลในไตรมาสที่ 4/52
2. สมาคมยางพาราไทยคาดว่าราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2553
  • สมาคมยางพาราไทย คาดว่าราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2553 จากอุปสงค์ในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัญหาภาวะโลกร้อนจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลง ดังเช่นการเกิดภาวะน้ำท่วมในปี 52 ที่ทำให้ผลผลิตยางจาก ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปรับตัวลดลงคิดเป็นร้อยละ 6 ส่งผลให้ราคายางปัจจุบันอยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม หรือขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 40 (y-o-y) โดยในปี 53 คาดว่าราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก โดยเห็นได้จากดัชนีอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติกว่าร้อยละ 60 ที่ได้ปรับตัวดีขึ้นในเดือน ต.ค. 52 โดยหดตัวลดลงที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 53 จากเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ราคาสินค้าอุปโภค (Commodity Price) รวมทั้งราคายางจะปรับดีขึ้นตามด้วย ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอันเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากต่อไป
3. ญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณ 81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมูลค่า 7.2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้กลับไปสู่ภาวะถดถอยและแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด โดยส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาคยานยนต์ผ่านการสนับสนุนรถยนต์ประหยัดพลังงานและอุปสงค์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรมูลค่า 1 แสนล้านเยนเพื่อสนับสนุนรายจ่ายดังกล่าว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของญี่ปุ่นเนื่องมาจากสัญญาณทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเป็นไปอย่างเปราะบางจากการลงทุนภายในประเทศในไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ -17.6 ต่อปี ประกอบกับค่าเงินเยนในช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของ GDP ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดญี่ปุ่นแถลงตัวเลขปรับปรุงของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ที่ร้อยละ 0.3 ไตรมาสก่อนหน้า (%qoq) ลดลงจากที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 %qoq อย่างไรก็ตาม คาดว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว จะมีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังของญี่ปุ่นในระยะยาว เนื่องจากในปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงเกือบสองเท่าของขนาดเศรษฐกิจ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ