รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ธ.ค. 2552

Summary:

1. รัฐวิสาหกิจนำเงินส่งคลังเกินเป้ากว่า 1,200 ล้านบาท

2. ธปท. เชื่อเศรษฐกิจไทยติดลบไม่เกินร้อยละ 3.5 ในปี 52 และเป็นบวกในปี 53

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ปรับลดลงกว่าที่คาด

Highlight:
1. รัฐวิสาหกิจนำเงินส่งคลังเกินเป้ากว่า 1,200 ล้านบาท
  • สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงผลการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจเดือน พ.ย.52 ว่า รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวน 4,667.14 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้จำนวน 3,457.35 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการ 1,209.79 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34.99 โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้หลักเข้ารัฐเดือนพ.ย. 52 ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำนวน 2,096 ล้านบาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 1,120 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง จำนวน 643 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 530 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาคจำนวน 213 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่รัฐวิสาหกิจสามารถนำรายได้ส่งคลังได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ในเดือนพ.ย.52 (ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ของงบประมาณปี 2553) นั้น จะส่งผลให้สถานการณ์ด้านรายได้ของรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น จากปีงบประมาณ 2552 ที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าประมาณ 1.96 แสนล้านบาท ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เริ่มปรับดีขึ้นจากช่วงต้นปี —กลางปี ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการแล้วมีกำไรมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
2. ธปท. เชื่อเศรษฐกิจไทยติดลบไม่เกินร้อยละ 3.5 ในปี 52 และเป็นบวกในปี 53
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยได้เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณบ่งชี้หลายด้านที่เริ่มดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่า สิ้นปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม จะติดลบไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี หรืออยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี และจะขยายตัวเป็นบวกในปี 53 โดยอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3 - 5.3 ต่อปี ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังมีจุดเปราะบางเช่นเดียวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ธปท.ยังเฝ้าระวังเรื่องภาวะฟองสบู่และความเหมาะสมเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 52 ที่ธปท.คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี นั้น มีทิศทางเดียวกันกับการประมาณการของสศค.ในเดือนก.ย. 52 ที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อย่างไรก็ตาม ในปี 53 สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี หรือในช่วงร้อยละ 2.5 - 4.1 ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 53 สศค. คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ปรับลดลงกว่าที่คาด
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นแถลงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของญี่ปุ่น (Tankan Business Sentiment) สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ -24.0 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -27.0 โดยดัชนีดังกล่าวเป็นการสุ่มสำรวจผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่ดัชนีดังกล่าวออกมาต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมาที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 14 ปี ส่งผลกระทบต่อรายได้และส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -33.0 เป็น -24.0 นั้น เป็นการปรับตัวดีขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและอาหาร ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ไม้ ปรับตัวลดลง นอกจากนี้พบว่า ดัชนีดังกล่าว ปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. 2551 ที่ระดับ -58.0 สะท้อนการฟื้นตัวในภาคการผลิตของญี่ปุ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ