รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 7 - 11 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 11:56 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้
สรุป

1. ภาระงบประมาณของญี่ปุ่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับแต่นี้ต่อไปจะสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

2. รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีกจำนวน 7.2 ล้านล้านเยน

3. FSA พิจารณาคลายกฎเกณฑ์มาตรฐานการกำกับดูแลลูกหนี้ SMEs ของสถาบันการเงิน

4. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7

-----------------------------------

1. ภาระงบประมาณของญี่ปุ่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับแต่นี้ต่อไปจะสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

จากผลการประชุม United Nations Climate Change Conference (COP 15) ระหว่างวันที่ 7 —18 ธันวาคม 2552 ณ กรุง Copenhagen ประเทศ Denmark มีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังที่สิ้นสุด Kyoto Protocol ในปี 2555 ดังนี้คือ 1) กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ 2) แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนา โดยนานาประเทศได้มีความเห็นตรงกันที่จะลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกในปี 2593 ลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีฐานคือปี 2533 และเพื่อที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2533

ผลการศึกษาของ Research Institute of Innovative Technology for the Earth (RITE) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของญี่ปุ่น ที่ได้ความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายการลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงปี 2563 ที่ประเทศต่างๆ ได้ประกาศไว้ และภาระงบประมาณในการลด ดังนี้

ประเทศ              เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ประกาศไว้        ภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลใน
                    ณ การประชุม COP 15  กรุง Copenhagen           การลด ก๊าซเรือนกระจกต่อ 1 ตัน
ญี่ปุ่น                 ร้อยละ 25 ภายในปี 2563 เทียบกับปีฐาน 2533        ร้อยละ 1.13 ของ GDP หรือ 476 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สหภาพยุโรป           ร้อยละ 20 ภายในปี 2563 เทียบกับปีฐาน 2533        ร้อยละ 0.08 ของ GDP หรือ 48 ดอลลาร์สหรัฐฯ
สหรัฐฯ               ร้อยละ 17 ภายในปี 2563 เทียบกับปี 2548           ร้อยละ 0.29 ของ GDP หรือ 60 ดอลลาร์
อินโดนีเซีย            ร้อยละ 26 ภายในปี 2563 เทียบกับปี 2548            -

แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกครั้งนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ดำเนินการประหยัดพลังงานมามากแล้ว ตามเป้าหมายใหม่ซึ่งค่อนข้างสูงมาก ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเอเซียมีเพียงญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเท่านั้นที่ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก และได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ในครั้งนี้อินโดนีเซียได้รับเงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่นจำนวน 37.44 พันล้านเยน เพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งยังไม่สายเกินไปที่ประเทศไทยจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

2. รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีกจำนวน 7.2 ล้านล้านเยน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเพิ่มงบประมาณจำนวน 7.2 ล้านล้านเยน เพื่อดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสาขาต่างๆ ดังนี้ 1) จัดสรรเงินช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อดำเนินการโครงการสาธารณูปโภคและให้เงินช่วยเหลือเพื่อชดเชยรายได้จากการเก็บภาษีท้องถิ่นน้อยลง จำนวนประมาณ 3.5 ล้านล้านเยน 2) สนับสนุน SMEs เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องจำนวนประมาณ 1.7 ล้านล้านเยน

3) สนับสนุนซื้อรถยนต์และเครื่องไฟฟ้าครัวเรือนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ Eco Point จำนวนประมาณ 800 พันล้านเยน 4) ป้องกันไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ H1 จำนวนประมาณ 800 พันล้านเยน และ 5) สร้างงานและให้เงินสนับสนุนการจ้างงานจำนวนประมาณ 600 พันล้านเยน เป็นต้น

ทั้งนี้ นาย Hirohisa Fujii รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้คาดว่ารายได้จากการเก็บภาษีปีงบประมาณ 2552 มีจำนวน 36.9 ล้านล้านเยน ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้จำนวน 9.2 ล้านล้านเยน จากงบประมาณรัฐบาลจะออกพันธบัตร 53.5 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณนี้ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก(คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 90 ล้านล้านเยน) โดยก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลที่ผ่านมาได้กำหนดเพดานการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่ไว้ไม่ให้เกินปีละ 30 ล้านล้านเยน จนถึงตอนนี้ฐานะการคลังของญี่ปุ่นยิ่งอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นผลจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. FSA พิจารณาคลายกฎเกณฑ์มาตรฐานการกำกับดูแลลูกหนี้ SMEs ของสถาบันการเงิน

รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมาย ปรับปรุงคลายกฎเกณฑ์มาตรฐานการกำกับดูแลลูกหนี้ SMEs ของสถาบันการเงินที่เสนอโดย Financial Service Agency (FSA) เพื่อขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของ SMEs เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัทต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ SMEs

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมีการขอให้ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ด้วย โดยตามกฎเกณฑ์เดิมบริษัทจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการยื่นต่อสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้หนี้กลายเป็น NPLs แต่ภายหลังจากการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ จะมีการผ่อนปรนไม่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 1 ปีและกำหนดให้สถาบันการเงินผ่อนปรนการพิจารณาระงับการปล่อยเงินกู้ หรือเร่งทวงหนี้จากลูกค้าประเภท SMEs และผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีจำนวนหนี้สูงกว่าจำนวนรายได้ตามตัวเลข นอกจากนี้ยังได้มีแผนที่จะกำหนดไม่ให้สถาบันการเงินใช้การลดหย่อนกฎเกณฑ์นี้เป็นเหตุผลในการปฎิเสธการปล่อยเงินกู้อีกด้วย

หลังการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ญี่ปุ่นกำลังถอยหลังเข้าคลอง เพราะอาจเป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้ปกติกลายเป็นลูกหนี้ NPLs ได้ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงแก่สถาบันการเงินและระบบการเงิน เพราะเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินไม่ต้องเปิดเผยจำนวน รวมทั้งการแก้ไขปัญหา NPLs ในสถาบันการเงินที่แท้จริง

4. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค.52 มีจำนวน 1.40 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือนแล้ว โดยยอดการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยอดการเกินดุลการรายได้ลดลงร้อยละ 30.3 เนื่องจากค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้น และผลตอบแทนดอกเบี้ยในต่างประเทศต่ำ

การเกินดุลการค้าและบริการมีจำนวน 618.3 พันล้านเยน ส่วนการเกินดุลการค้ามีจำนวน 949.0 พันล้านเยน โดยยอดการส่งออกลดลงร้อยละ -24.6 มีจำนวน 4.97 ล้านล้านเยน ลดลงติดต่อกัน 13 เดือนแล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -37.7 มีจำนวน 4.02 ล้านล้านเยน มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันลดลงเทียบกับปีก่อนหน้าอย่างมาก

ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดมา ลดลงร้อยละ 30.3 มีจำนวน 846.5 เทียบกับ 1,214.4 พันล้านเยน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของโลกต่ำและค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศลดลง

ดุลบัญชีทุนและการเงินขาดดุล 55.7 พันล้านเยน โดยการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในต่างประเทศลดลงอย่างมากเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ในขณะที่ต่างประเทศลงทุนตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นมากขึ้นเกือบ 4 เท่าเช่นกัน รายละเอียดปรากฎตามตารางที่แนบ

ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศประจำเดือนตุลาคม 2552

(Balance of Payments)

หน่วย: พันล้านเยน

                    รายการ                                ตุลาคม 2552         ตุลาคม 2551
1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)                   1,397.6            979.6
(เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (42.7)          (-55.6)
 1.1 ดุลการค้าและบริการ (Goods & Services Balance)               618.3           -116.8
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                     (-)               (-)
  1.1.1 ดุลการค้า (Trade Balance)                               949.0            136.6
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (594.7)          (-88.1)
        การส่งออก (Exports)                                  4,965.7          6,582.0
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-24.6)           (-7.5)
        การนำเข้า (Imports)                                  4,016.6          6,445.4
 (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                   (-37.7)            (8.0)
  1.1.2 ดุลบริการ (Services Balance)                           -330.7           -253.4
 1.2 รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผล (Income)                          846.5          1,214.4
 1.3 การโอนรายได้ (Current Transfers)                          -67.1           -118.1
2. ดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital & Financial Account Balance)     -55.7           -782.9
 2.1 ดุลบัญชีการเงิน (Financial Account Balance)                  -11.3           -773.5
      การลงทุนโดยตรง (Direct Investment)                      -721.6         -2,700.0
      การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)           6,618.9         -1,412.4
      การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ด้านการเงิน (Financial Derivatives)   180.3          1,070.5
      การลงทุนอื่นๆ (Other investments)                       -6,089.0          3,268.4
 2.2 ดุลบัญชีทุน (Capital Account Balance)                        -44.4             -9.4
3. ยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Changes in Reserve Assets)    -8.4           -307.6
ที่มา: กระทรวงการคลังญี่ปุ่น


สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ