Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ธ.ค. 2552
Summary:
1. ครม.อนุมัติต่อมาตรการลดค่าครองชีพ 3 เดือน
2. สภาธุรกิจตลาดทุนไทยหวั่นปัญหามาบตาพุดกระทบลงทุนไทยยาว 10 ปี
3. กสิกรไทยคาดอุตสาหกรรมยางปี 53 ฟื้นตัวแต่เสี่ยงราคาผันผวน
Highlight:
1. ครม.อนุมัติต่อมาตรการลดค่าครองชีพ 3 เดือน
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายเวลาโครงการ 5 มาตรการเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนที่จะสิ้นสุดโครงการในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ออกไปอีก 3 เดือน หรือถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2553 โดยได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของมาตรการลดรายจ่ายค่าน้ำประปาจากเดิม 30 หน่วยเหลือ 20 หน่วยขณะที่มาตรการอื่นๆ ยังคงเงื่อนไขเดิม สำหรับสาเหตุที่ ครม.อนุมัติให้ขยายเวลาโครงการออกไปแค่ 3 เดือน เนื่องจากต้องการให้มีการประเมินผลโครงการและค่าใช้จ่ายอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณาว่าจะขยายเวลาโครงการออกไปอีกหรือไม่
- สศค.วิเคราะห์ว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนแม้จะมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลแต่ก็มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจากการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนมีการขยายตัวแล้วในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 52 โดยมีการขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 และ 0.7 q-o-q เมือเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 52 ที่มีการหดตัวที่ร้อยละ -2.9 q-o-q โดยผลจากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยลดภาระภาคครัวเรือนดังนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา มีผู้ได้รับประโยชน์ 7,535 ล้านครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า 8,884 ล้านครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางประมาณ 434,000 คนต่อวัน ในขณะที่มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ มีประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 2.8 ล้านคนต่อเดือน
2. สภาธุรกิจตลาดทุนไทยหวั่นปัญหามาบตาพุดกระทบลงทุนไทยยาว 10 ปี
- รองประทานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ผลจากกรณีมาบตาพุดจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าและอาจจะกระทบไปอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่สามารถแก้ไขออกมาในทางที่ดีได้และความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะลดลง เศรษฐกิจไทยเองก็จะเติบโตเฉลี่ยเหลือร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงที่ได้รับผลกระทบแล้ว ในทางอ้อมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เนื่องจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามาบตาพุดเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีน้ำหนักในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหามาบตาพุดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.2 ของ GDP รวมถึงผลกระทบการจ้างงานและการจัดเก็บรายของรัฐบาลที่อาจลดลงได้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี จากปัญหาดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหันมาสร้างความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ GDP ลดลงร้อยละ -0.2 (ไม่รุนแรง) ถึงร้อยละ -0.5 (รุนแรง) เมื่อเทียบกับกรณีฐาน
3. กสิกรไทยคาดอุตสาหกรรมยางปี 53 ฟื้นตัวแต่เสี่ยงราคาผันผวน
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 53 สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยางมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และความต้องการยางธรรมชาติเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยางรถยนต์ฟื้นตัวตามไปด้วย กอปรกับสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางสำคัญ นับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประเทศผู้ซื้อยางเริ่มหันมาซื้อยาง เนื่องจากคาดว่าราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสะท้อนได้จากความต้องการยางในตลาดโลกร้อยละ 70 ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติกว่าร้อยละ 60 ได้ปรับตัวดีขึ้นในเดือน ต.ค. 52 โดยหดตัวลดลงที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 53 เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค (Commodity Price) รวมทั้งราคายางจะปรับดีขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกยางของไทยและทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th