รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2009 10:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ธ.ค. 2552

Summary:

1. ปตท.เตรียมออกหุ้นกู้ระดมทุนในประเทศ 8 หมื่นล้านบาท ตามการแผนลงทุน 5 ปี

2. ธนาคารกรุงเทพชี้จีดีพีไตรมาส 4 เป็นบวก ทั้งปีติดลบ 3% และปี 53 โต 3 %

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังวิกฤต

Highlight:
1. ปตท.เตรียมออกหุ้นกู้ระดมทุนในประเทศ 8 หมื่นล้านบาท ตามแผนการลงทุน 5 ปี
  • นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวถึงแผนลงทุนของกลุ่มปตท.ต่อเนื่อง 5 ปี ระหว่าง ปี 2010-2014 ซึ่งจะต้องใช้เงินทั้งหมด 110,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ปตท. ยังมีเงินเหลือค้างจากการอนุมัติของผู้ถือหุ้นครั้งก่อน จำนวน 3 หมื่นล้านบาท จึงเท่ากับต้องระดมทุนใหม่อีก 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาที่มาบตาพุด รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง คาดว่าจะไม่กระทบต่อการระดมทุน เนื่องจาก ปตท.มีเป้าหมายที่จะระดมทุนในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ นักลงทุนในประเทศยังคงมีความเชื่อมั่นต่อบริษัท ปตท.ฯ โดยเครดิตเรทติ้ง ของ ปตท. ก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย คือ BBB+ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนตามแผนเดิมในการลงทุน 5 ปี ของบริษัท ปตท.ฯ จะส่งผลดีต่อการลงทุนรวมในประเทศ โดยอาจส่งผลด้านบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเกิดปฏิกริยาต่อเนื่องต่อการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้นในธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน สศค. คาดว่าการลงทุนที่แท้จริงของภาครัฐและเอกชนในปี 2553 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนแท้จริงภาคเอกชนจะมีการขยายตัวกลับมาเป็นบวกในปี 2553 ที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี จากที่เคยหดตัวในปี 2552 ร้อยละ -13.5 ต่อปี
2. ธนาคารกรุงเทพชี้จีดีพีไตรมาส 4 เป็นบวก ทั้งปีติดลบ 3% และปี 53 โต 3 %
  • ธนาคารกรุงเทพชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยปี 52 ไตรมาส 4 เริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและคาดว่าจีดีพีจะสามารถพลิกเป็นบวกได้ ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 52 ติดลบที่ 3% ส่วนปี 53 มองว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังไม่แข็งแรงนัก พร้อมทั้งคาดว่าจีดีพีจะโตได้ที่ 3% จากการขับเคลื่อนของภาคการเงิน รวมทั้งรัฐบาลในด้านนโยบายต่างๆ ขณะที่เศรษฐกิจโลกแม้มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังไม่แข็งแกร่ง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของไตรมาส 4 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งอัตราว่างงาน ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะการคลังอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง กล่าวคือ การส่งออกในเดือนตุลาคมหดตัวเพียงร้อยละ -3 จากเดิมร้อยละ -17.7 เครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่มติดลบเหลือเพียงร้อยละ -7 จากเดิมร้อยละ -15.6 ในไตรมาส 3 ปัจจัยนี้แสดงถึงการฟื้นตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกในเดือนตุลาคมแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นในเดือนแรกของไตรมาส 4 ซึ่ง สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3 โดยคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -3 ในปี 52 และจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี ในปี 53 ซึ่ง สศค. จะได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและแถลงผลการประมาณการสำหรับปี 52 และ 53 อีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค. 52
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังวิกฤต
  • นายกฯญี่ปุ่นยอมรับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะวิกฤตหนัก และอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินเยนแข็งค่าอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนญี่ปุ่นที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในสหรัฐ อีกทั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นยังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลงบประมาณมหาศาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเปราะบางสูง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วญี่ปุ่นได้ประกาศตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส 3 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี (q-o-q annualized) ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (q-o-q annualized) สร้างความวิตกกับภาคเอกชนต่อการฟื้นตัวของญี่ปุ่น อีกทั้ง การดำเนินนโยบายด้านการคลังของญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล โดยคาดว่าจะสูงถึง 34.204 ล้านล้านเยน เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ ในเดือน มี.ค. 53 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวที่ร้อยละ -6.2 ต่อปี ในปี 52 และขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ในปี 53 ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ