ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤศจิกายน 2552 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2009 09:38 —กระทรวงการคลัง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผย ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.27 แสนล้านบาท ทะลุเป้ากว่า 20,000 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองของปีงบประมาณ 2553 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าขยายตัวในอัตราที่สูง และผลการจัดเก็บใกล้เคียงกับระดับที่เคยจัดเก็บได้ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทะลุ 6,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี

ในเดือนพฤศจิกายน 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 127,445 ล้านบาท สูงกว่า ประมาณการ 20,354 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.0 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อากรขาเข้า และภาษีเบียร์ ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,537 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา

สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 243,080 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 40,419 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 โดยทั้ง 3 กรมหลัก ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 17,590 14,074 และ 3,849 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.2 9.8 และ 29.6 ตามลำดับ

นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บภาษีในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 จะขยายตัวในอัตราที่เป็นบวก ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประมาณการไว้อย่างแน่นอน”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 127,445 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 20,354 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2552) จัดเก็บได้ 243,080 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 40,419 ล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนพฤศจิกายน 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 127,445 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 20,354 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 19.4) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 40,512 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,720 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่เริ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 25.7 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 10.6
  • ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ 12,279 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,537 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 40.5 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552
  • ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 6,113 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,581 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 73.1 เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ
  • อากรขาเข้า จัดเก็บได้ 8,453 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,083 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.7 เป็นผลจากการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการจัดเก็บเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า
  • ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 5,428 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,570 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.7 เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการบริโภคและผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 60 ในเดือนพฤษภาคม 2552

สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,210 ล้านบาท เนื่องจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอทยอยนำส่งรายได้เป็นงวด (จากเดิมที่คาดว่าจะนำส่งทั้งจำนวนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้เลื่อนการจ่ายเงินปันผลมาจ่ายในเดือนนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะจ่ายในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี บมจ. การบินไทยไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามประมาณการ เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุน

2. ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 243,080 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 40,419 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 22.7) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการ ถึง 35,513 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.4 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญานการฟื้นตัวที่ชัดเจนแล้ว

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 157,465 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,074 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.3) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,409 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 64,926 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,590 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 74.3) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 7,116 4,705 และ 2,373 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.6 65.5 และ 31.6 ตามลำดับ

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 16,864 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,849 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.9) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,401 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 18,590 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 245 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 168.3) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอทยอยนำส่งรายได้เป็น 6 งวด จากเดิมที่คาดว่าจะนำส่งทั้งจำนวนในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ บมจ. การบินไทย ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุน อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 18,111 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2,322 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.3) เนื่องจากในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 178/2552 17 ธันวาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ