รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 — 17 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2009 09:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary:

Indicators this week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 52 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ 6.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพ.ย.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 68.0

Indicators next week
       Indicators                  Forecast       Previous
Nov: Passenger Car Sales(%yoy)       17.0           23.4
  • เนื่องจากคาดว่าเทคนิคในมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจลูกค้าของค่ายรถยนต์ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น จะส่งผลบวกต่อยอดขาย
Nov : MPI (%yoy)                     4.0            -0.5
  • เนื่องจากคาดว่าจะมีการเร่งการผลิตสินค้าที่เน้นการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าการผลิตรายไตรมาส
Nov : Tourist Arrivals (%yoy)       23.0            10.5
  • เนื่องจากคาดว่าปัจจัยฐานต่ำปีก่อนที่มีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในระดับสูง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี เนื่องจากปัญหาโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวเปลือกเจ้า ในขณะที่ข้าวหอมมะลิประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากมีผลผลิตเร่งออกมามากในช่วงต้นปี ประกอบกับได้รับผลกระทบจากเพลี้ยแป้ง ในขณะที่ผลผลิตยางพารายังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนตกชุกหนาแน่นในเกือบทุกพื้นที่การผลิต ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 ต่อปีจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี และถือได้ว่าเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนหลังจากหดตัวมาตลอดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 52 จากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของราคาข้าวหอมมะลิและยางพาราเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ตามราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 52

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ6.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) รายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมัน 2) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากการที่อัตราการว่างงานในเดือนก.ย.52 ที่อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม โดยถือได้ว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่อัตราการว่างงานที่เคยแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวม ในเดือนม.ค. 52 และ 3) ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อประคับประคองการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้หดตัวตามเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 68.0 โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของปี 52 ที่ประกาศโดยสศช. อยู่ที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี ซึ่งดีกว่า GDP ของสองไตรมาสแรกมาก โดยGDPไตรมาสแรกปี 52 และ ไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -7.1 และ-4.9 ต่อปี ตามลำดับ 2) ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศเริ่มทรงตัว และ 3)ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการไทยเข้มแข็งที่เริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 52

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน พ.ย. 52 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 ต่อปีเนื่องจาก 1) ในช่วงปลายปีบรรดาค่ายรถยนต์ต่างออกรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีเทคนิคในมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจลูกค้ามากขึ้น 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การบริโภคภาคสินค้าคงทนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และ 3) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 52 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี หลังจากที่เดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากการเร่งการผลิตสินค้าที่เน้นการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าการผลิตรายไตรมาส

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในเดือน พ.ย.52 คาดว่ามีจำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ23.0 ต่อปี ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำปีก่อนที่มีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากทวีปเอเชียและยุโรปเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการบินตรงผ่านเข้าท่าอากาศยานภูเก็ตสูงถึงร้อยละ 46.6 ต่อปี

Major Trading Partners’ Economies: This Week

เศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาส 3 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี โดยหากพิจารณาการขยายตัวรายไตรมาสที่ปรับฤดูกาล เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%qoq) ผลจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ที่ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7 0.7 และ 0.4 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกยังคงหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -14.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯในเดือน พ.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ-5.1 ต่อปี หรือขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.8 (%mom) โดยผลผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนและสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 1.1 จากเดือนก่อนหน้าตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 71.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สะท้อนการฟื้นในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

ยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ (Housing Starts) เดือน พ.ย. 52 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 7 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.9 จากเดือนก่อนหน้าหรือคิดเป็น 0.574 ล้านหลังต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเป็นสำคัญ ขณะที่ยอดอนุญาตสร้างบ้านใหม่ (Housing Permits) เดือน พ.ย. 52 มีจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่ พ.ย. 51 มาอยู่ที่ระดับ 584,000 หลังต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 จากเดือนก่อนหน้าจากการเพิ่มขึ้นของการขออนุญาตสร้างบ้านเดี่ยว สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์

ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อนหน้า (%mom) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 และหากไม่นับรวมยอดค้าปลีกยานยนต์พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ1.2 จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ไม่ขยายตัว สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการบริโภคภาคเอกชน

ดัชนีคำ สั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเบื้องต้น (Markit Mfg Flash PMI) ในเดือน ธ.ค. 52 สูงที่สุดในรอบ 21 เดือนที่ระดับ 51.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.2 ขณะที่ คำสั่งซื้อภาคบริการเบื้องต้น (Markit Service Flash PMI) สูงที่สุดในรอบ 25 เดือนที่ระดับ 53.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 โดยดัชนีทั้งสองอยู่เหนือระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนการฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและบริการ และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี

ผลสำรวจสภาวะธุรกิจของผู้ผลิตรายใหญ่ในญี่ปุ่น (Tankan large Mfg survey) ไตรมาสที่ 4 ปี 52 อยู่ที่ระดับ -24.0 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ -33.0 เนื่องจากสภาวะธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม และอาหาร ปรับตัวดีขึ้น

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี ชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่ 2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 ต่อปี

ยอดค้าปลีกของจีนเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 16.2 ต่อปี สะท้อนการบริโภคที่ชะลอลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. 52 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

การส่งออกของไต้หวันในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลับมาขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 17.9 ต่อปี จากที่หดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแม้ว่าสาเหตุหลักของการขยายตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศดังกล่าวจะมาจากฐานในช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ต่ำ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจไต้หวันกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนต.ค. 52 หดตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -18.2 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.2 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐฯและญี่ปุ่นหดตัวที่ร้อยละ -5.3 และ -4.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -19.7 และ -5.4 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ