Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ธ.ค. 2552
Summary:
1. กระทรวงอุตสาหกรรมคาดพิษมาบตาพุด เสียหายถึง 6 แสนล้าน
2. กรมโรงงานฯออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ 3,393 ราย ในช่วง 11 เดือนแรกปี 52
3. เบบี้บูมสหรัฐ ส่อวิกฤต เร่งไทยรีบออมก่อนเกษียณ
Highlight:
1. กระทรวงอุตสาหกรรมคาดพิษมาบตาพุด เสียหายถึง 6 แสนล้าน
- ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยหลังหารือร่วมกับปลัดกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้กับ 65 โครงการที่ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับกิจการว่า ได้ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเป็นความเสียหาย 3 ปัจจัย คือ 1.) ผลกระทบโดยตรงจากเงินลงทุน มูลค่า 2 แสนล้านบาท 2.) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่า 4 แสนล้านบาท และ 3.) ผลกระทบด้านแรงงาน 2.3 หมื่นคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถจำแนกได้ 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการลงทุน การบริโภค และการส่งออกในอนาคต 2) ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวข้อง 3) ด้านการจ้างงาน 4) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 5) ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภค 6) ผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในโครงการที่ถูกระงับ และ 7) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จ.ระยอง และภาคตะวันออก ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 53 พบว่า ในกรณีกระทบเล็กน้อย GDP จะลดลงประมาณร้อยละ -0.2 ต่อปี และในกรณีกระทบรุนแรง GDP จะลดลงประมาณร้อยละ -0.5 ต่อปี จากกรณีฐานที่สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี
2. กรมโรงงานฯ ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ 3,393 ราย ในช่วง 11 เดือนแรกปี 52
- กรมโรงงานอุตสาหกรรรมรายงานว่าเดือนพ.ย. 52 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาต ให้โรงงานประกอบกิจการ 306 ราย เงินลงทุน 20,441 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 24 เดือน ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้นักลงทุนมีแผนลงทุนเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่ได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติก เอทานอลและชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 52 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาต ให้ผู้ประกอบการ 3,393 ราย เงินลงทุนรวม 1.3 แสนบาทล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.4 หมื่นล้านบาท และมีการจ้างงาน 8.6 หมื่นคน
- สศค. วิเคราะห์ ว่าการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกใบอนุญาตให้โรงงานประกอบกิจการในเดือน พ.ย. 52 เป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 24 เดือนนั้น สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 52 การลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวที่ร้อยละ -13.7 ต่อปี (ประมาณการ ณ กันยายน 52) จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการเมืองในประเทศ
3. เบบี้บูมสหรัฐฯ ส่อวิกฤต เร่งไทยรีบออมก่อนเกษียณ
- ผลการวิจัยโดยบริษัทเอ็มดีอาร์ที สมาคมที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพในสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ประมาณ 80 ล้านคน ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้วัยเกษียณแต่ยังออมไม่พอจนอาจถึงขั้นวิกฤตในอนาคตได้ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากเอดีบีชี้ว่า คนไทยอายุเกิน 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 9.3% ในปี 2543 เป็น 18% ในปี 2563 ส่งผลให้สัดส่วนคนวัยทำงานต่อจำนวนผู้สูงอายุจะลดลง จาก 6 ต่อ 1 เป็น 3 ต่อ 1 ภายในปี 2563 หรืออีกไม่เกิน 13 ปีข้างหน้า และในปี 2583 หรืออีกประมาณ 33 ปี สัดส่วนจะลดลงเป็น 2 คน ต่อ 1 คน ดังนั้น อีก 20 ปีข้างหน้า ไทยอาจเผชิญวิกฤตผู้สูงอายุได้ ซึ่งหมายความว่าอีกไม่นานประชากรวัยทำงานจะเริ่มมีภาระในการเลี้ยงดูคนสูงอายุในสังคมมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุต่อกำลังแรงงานเป็นปัญหาที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ส่วนหนี่งจากพัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชากรลดลง ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อกระตุ้นให้ประชากรมีการออมระยะยาวเพิ่มมากขึ้น คือการที่ประชาชนสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th