รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 22, 2009 10:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ธ.ค. 2552

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขมูลค่าส่งออก ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

2. อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 52 ลดลงสู่ภาวะปกติร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม

3. การใช้จ่ายครัวเรือนหนุนเอเชียพ้นวิกฤติ

Highlight:
1. กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขมูลค่าส่งออก ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเดือนพ.ย. 52 โดยการส่งออกมีมูลค่า 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี ขยายตัวขึ้นสูงมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี และเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 12,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี และดุลการค้าเกินดุลที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่การส่งออกขยายตัวในระดับสูงเป็นผลจาก 1) เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยจะเห็นได้จากการส่งออกไปยังตลาดหลักที่เริ่มกลับมาขยายตัวแทบทุกตลาดยกเว้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 2) ปัจจัยฐานต่ำ โดยในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออกมีมูลค่าเพียง 11,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ลุกลามเข้าสู่ตลาด G3 และตลาดอื่นๆอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และ 3) การส่งออกทองคำมูลค่าถึง 215.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากหักทองคำแล้ว การส่งออกเดือนพ.ย.52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี
2. อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 52 ลดลงสู่ภาวะปกติร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติแถลงตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 52 กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 4.1 แสนคน โดยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานเดือนต.ค. 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 5 แสนคน จากเดือนก่อนหน้า โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสาขาค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ -1.0 หรือคิดเป็นจำนวนคนลดลง 6.2 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 52 เริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงตั้งแต่เดือน พ.ค. 52 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ต่างปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และมูลค่าส่งออกสินค้า ซึ่งส่งผลให้มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าในบางอุตสาหกรรมเริ่มมีการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ จำนวนผู้ว่างงานที่ปรับผลทางฤดูกาลหดตัวที่ร้อยละ -26.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 1.5 แสนคน
3. การใช้จ่ายครัวเรือนหนุนเอเชียพ้นวิกฤติ
  • นักวิเคราะห์เอชเอสบีซี เครดิต สวิส ฮ่องกง ระบุการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีน อินเดียและเกาหลีใต้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ช่วยให้ภูมิภาคหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศในเอเชีย ที่ยังคงดำเนินอยู่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีในปี 53 ของภูมิภาคเอเชียว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี เทียบกับการเติบโตของจีดีพีโลกที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการประกาศตัวเลขจีดีพีของภูมิภาคเอเชียในไตรมาส 3 ปี 52 พบว่า มีการขยายตัวเป็นบวกเกือบทุกประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น จีนที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี จากไตรมาสแล้วที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี จากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลจีน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวดีขึ้นและอาจทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู้ค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 — 3.8 ต่อปี) ประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ