บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการปรับลดค่าเงินของเวียดนามและปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 22, 2009 11:54 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 ธนาคารกลางเวียดนามปรับลดค่าเงินดองร้อยละ 5.44 เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปริมาณเงินทุนสำรองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ 8.0 เพื่อจัดการความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
  • ในมิติคู่ค้า สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและปรับลดค่าเงินดองน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการค้าการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทย
  • ในมิติคู่แข่ง สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินดองจะไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันบ้าง อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อและค่าเงินดองที่ลดลงเป็นต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามควรติดตามภาวะการแข่งขันในหมวดสินค้าข้าวและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังประสพ เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดฐานการลงทุนกลับมาไทย
  • ประเด็นเชิงนโยบาย ในระยะสั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งเป็นการป้องกันความสูญเสียจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วยในระยะปานกลาง ไทยควรเร่งการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (infrastructure)ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันให้แก่ภาคเอกชนไทยต่อไป
1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการ (Official Exchange Rate) กว่าร้อยละ 5.44 จาก 17,034 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 17,951 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปริมาณเงินทุนสำรองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดค่าเงินดองมาแล้วรวม 3 ครั้ง ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ค่าเงินดองได้อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ8.0 เพื่อจัดการความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2551

การปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการและปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเวียดนามในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤต Lehman Brothers อย่างชัดเจน กอปรกับข่าวการประกาศหยุดพักชำระหนี้ของบริษัท Dubai World ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรอบนี้ โดยเฉพาะในประเด็นว่าปัญหาของเศรษฐกิจเวียดนามจะลุกลามไปสู่ปัญหาของเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาสาเหตุรวมทั้งผลกระทบของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้

2. สาเหตุและความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนทางการและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

วิกฤตเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังเผชิญในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเร็วเกินไป โดย Real GDP ของเวียดนามได้ขยายตัวสูงในระดับร้อยละ 6-9 ในช่วงปี 2547-2551 และแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจากวิกฤต Lehman Brothers เศรษฐกิจเวียดนามใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.8 จากปีก่อน การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยในปี 2552 มาตรการด้านการคลังของเวียดนามคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 6.9 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 ของ GDP และในส่วนของมาตรการด้านการเงิน ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากจากระดับร้อยละ 14.0 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552

การที่เศรษฐกิจเวียดนามได้ขยายตัวในระดับสูง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับสูงตามไปด้วยการนำเข้าที่สูงขึ้น กอปรกับส่งออกของเวียดนามที่ชะลอตัวลงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยล่าสุด ในสามไตรมาสแรกของปี 2552 เวียดนามขาดดุลกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 9.5 ของจีดีพี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 และปี 2551 ได้ถูกชดเชยด้วยการลงทุนทางตรงและทางอ้อมในเวียดนามที่เป็นบวก ส่งผลให้ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) ของเวียดนามเป็นบวกในปี 2550 และติดลบเล็กน้อยในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 พิษของวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การลงทุนทางตรงและทางอ้อมในเวียดนามลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ดุลการชำระเงินของเวียดนามติดลบอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกในปี 2552

การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) ในขณะที่เวียดนามมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องเข้ามารับซื้อเงินดองเพื่อพยุงค่าเงินดองไม่ให้อ่อนค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่ได้ตั้งไว้ อันส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางเวียดนามลดลงจาก 24.17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปลายปี 2551 มาอยู่ที่ 20.56 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การลดลงของเงินทุนสำรองอย่างรวดเร็วดังกล่าวเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดอง

การประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการครั้งนี้ที่ร้อยละ 5.44 ส่งผลให้ค่าเงินดองปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 3.44 เนื่องจากธนาคารกลางอนุญาตให้ค่าเงินดองสามารถเคลื่อนไหวได้อยู่ในช่วง Trading Band โดยในช่วงที่ผ่านมา จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้กดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราซื้อขายค่าเงินดองที่แท้จริงอยู่ที่อัตราสูงสุดของ Trading Band (ค่าเงินดองที่อ่อนค่าที่สุดใน Trading Band) และเมื่อธนาคารกลางได้ประกาศลด Trading Band จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3 ส่งผลให้ค่าเงินดองปรับอ่อนค่าลงน้อยกว่าการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนทางการ

การประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการครั้งนี้เป็นการประกาศลดค่าเงินครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2550 ดังนั้นหากการประกาศลดค่าเงินครั้งนี้ไม่สามารถช่วยลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการประกาศลดค่าเงินดองอีก หรือมิเช่นนั้น อาจมีการประกาศลอยตัว (Floating Exchange Rate) ค่าเงินดองก็เป็นได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เคยประสพปัญหาวิกฤตดุลการชำระเงิน (Balance of Payment Crisis) เช่นเดียวกันในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อันเป็นผลให้ค่าเงินบาทลอยตัว

ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ โดยการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤต Lehman Brothers โดยที่ผ่านมา เวียดนามได้เคยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงถึงร้อยละ 14 เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงกว่าร้อยละ 28.32 ในเดือนสิงหาคม 2552 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซานับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น จากฐานราคาปีก่อนต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคและปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จึงเป็นเหตุให้ธนาคารกลางเวียดนามประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2552

3. ผลกระทบต่อประเทศไทย

สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและปรับลดค่าเงินของเวียดนามไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ สศค. จะแบ่งการวิเคราะห์ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และ (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องการการลงทุนระหว่างประเทศ

3.1 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ

3.1.1 ผลกระทบต่อการค้าไทยในมิติคู่ค้า

สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและปรับลดค่าเงินของเวียดนามไม่น่าจะมีผลกระทบการค้าระหว่างไทยและเวียดนามมากนักเนื่องจากการค้าระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด แม้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 9 ของไทย แต่การค้าระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ไทยได้ส่งออกไปเวียดนาม 3,660.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพียงร้อยละ 2.95 ของการส่งออกไทยโดยรวม และนำเข้าจากเวียดนาม 1,154.79ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพียงร้อยละ 1.08 ของการนำเข้าโดยรวมโดยสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังเวียดนามได้แก่ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็กในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่น้ำมันดิบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

นอกจากนี้ สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยหลายรายการเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกของเวียดนาม ดังนั้น เวียดนามจึงไม่น่าลดปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวจากไทยโดยสรุป จากสัดส่วนการค้าที่น้อย กอปรกับสินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยหลายรายการเป็นสินค้าวัตถุดิบเป็นเหตุผลให้ สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและปรับลดค่าเงินของเวียดนามไม่น่าจะมีผลกระทบการค้าระหว่างไทยและเวียดนามมากนักเนื่อง

3.1.2 ผลกระทบต่อการค้าไทยในมิติคู่แข่ง

สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับลดค่าเงินของเวียดนามโดยรวมไม่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในระยะสั้นมากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันหากพิจารณาจากสินค้าส่งออกสำคัญของไทยและเวียดนาม จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันบ้างอย่างไรก็ตาม มีสินค้าส่งออกของไทยและเวียดนามบางรายการ ได้แก่ข้าว คอมพิวเตอร์ ที่ไทยควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศดังนั้น ในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ เวียดนามอาจได้เปรียบในการแข่งขันในหมวดสินค้าดังกล่าวที่สูงขึ้นจากค่าเงินดองที่อ่อนลงได้

ทั้งนี้ ในสินค้าข้าวที่ไทยและเวียดนามมีการแข่งขันกัน ก็เป็นสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีตลาดส่งออกที่แตกต่างกัน โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักได้แก่ อาเซียน คิวบา และอิรักในขณะที่ตลาดหลักของไทยได้แก่ อาฟริกา สหรัฐ และฮ่องกง

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของการลดค่าเงินดองที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตจากสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากเวียดนามลดลง แม้ว่าจากต้นปี 2552 ค่าเงินเวียดนามจะอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 8) แต่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเวียดนามเพิ่มขึ้นตามด้วย ดังนั้น ค่าเงินดองที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อ (Real Exchange Rate) อาจไม่ได้ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาของเวียดนามได้เปรียบสินค้าส่งออกไทยมากนัก

โดยสรุป จากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน กอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของการลดค่าเงินดองที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตจากสินค้าของเวียดนามเพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลให้ สศค. วิเคราะห์การปรับลดค่าเงินของเวียดนามโดยรวมไม่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในระยะสั้นมากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยควรต้องติดตามภาวะการแข่งขันในหมวดสินค้าข้าวและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหมวดสินค้าส่งออกหลักของทั้งสองประเทศ

3.1.3 ผลกระทบต่อการค้าบริการ

สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินดองของเวียดนาม จะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากเวียดนามคิดเป็นเพียงสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2 — 3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางมาประเทศไทย

3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการลงทุน

3.2.1 ผลกระทบต่อการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม

สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและปรับลดค่าเงินของเวียดนามไม่น่าจะมีผลกระทบการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามมากนัก เนื่องจากการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 การลงทุนโดยตรงจากเวียดนามมายังไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 540,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.01 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด

3.2.2 ผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในไทย

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังประสพ เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดฐานการลงทุนกลับมาไทย เนื่องจากการปรับลดค่าเงินดองและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางของเวียดนาม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนามลดลง ซึ่งอาจส่งผลทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาค อย่างเช่นประเทศไทย เนื่องจากไทยมีค่าเงินที่ยืดหยุ่น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบอีกทั้งเสถียรภาพด้านดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในสถานะที่มั่นคงมากกว่า

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจตามเวียดนาม เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างมาก โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเวียดนามจะพบว่าทั้งสองประเทศอยู่บนพื้นฐานที่ต่างกัน กล่าวคือ ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากขณะที่เวียดนามขาดดุล อัตราเงินเฟ้อในไทยติดลบอยู่ขณะที่เวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อสูง

4. ประเด็นเชิงนโยบาย

นโยบายภาครัฐเพื่อรองรับผลกระทบของการลดค่าเงินดองและภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันแบ่งได้ดังนี้

1. นโยบายระยะสั้น ได้แก่

1.1 รัฐบาลควรวางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่มีอัตราการเติบโตดี เช่น จีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งจะช่วยปรับสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างตลาด สินค้าส่งออกต่างๆมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งและช่วยให้เกิดเสถียรภาพของภาคการส่งออก ทั้งนี้การพึ่งพาตลาดส่งออกใหญ่เพียงไม่กี่ตลาดจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากกว่าการมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย กล่าวคือ หากมีการกระจายตลาดส่งออกของไทยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะกระทบภาคการส่งออกไทยได้น้อยกว่า

1.2 หน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้การไหลออกของเงินทุนจากเวียดนามอันเป็นผลจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนามอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องภายในภูมิภาค (contagion effect) กล่าวคือ นักลงทุนต่างชาติต่างดึงเม็ดเงินออกจากประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะทำเกิดการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากและกระทบต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเฝ้าระวังติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปซึ่งอาจกระทบต่อการวางแผนการค้าและการลงทุนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุน ทั้งนี้อาจแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ในกรณีที่เกิดการเก็งกำไรในตลาดค่าเงินบาทของไทย

1.3 ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่ทำการค้าหรือลงทุนในประเทศเวียดนามในการทำการศึกษาถึงผลกระทบของปัญหาภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันเพื่อให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวและหาแผนรองรับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนไทยไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าวมากนักและยังป้องกันผลกระทบทางอ้อมต่อสถาบันการเงินไทยที่เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับธุรกิจนั้น ๆ

2. นโยบายระยะปานกลางและยาว ได้แก่

2.1 รัฐอาจใช้มาตรการการคลังและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะการเร่งการลงทุนในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินลงทุนมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท เช่น โครงการระบบขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เป็นต้น

2.2 รัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับดึงดูดการเก็งกำไรของนักลงทุน ดังนั้น รัฐจึงควรสนับสนุนมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพของบุคคลกรผ่านโครงการสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ