รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 10:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ธ.ค. 2552

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์การค้ารับมือการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน

2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้คะแนนรัฐบาลระดับ B+

3. กรีซยังไม่พ้นวิบากกรรม มูดี้ส์หั่นเครดิตพันธบัตร, อังกฤษยังไม่พ้นถดถอย

Highlight:
1. กระทรวงพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์การค้ารับมือการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน w
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบนโยบายของไทยในการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในวันที่ 1 ม.ค. 2553 นี้ โดยเฉพาะไทยที่มีการพึ่งพาการส่งออกในอัตราร้อยละ 72.3 ของ GDP จึงต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์ โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนั้นยังส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกให้มากขึ้นเพื่อแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกลง ซึ่งจะทำให้การแข่งขันดีขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าหลักในกลุ่มอาเซียนเดือน พ.ย. 52 มีดังนี้ สิงค์โปร์ร้อยละ 4.9 มาเลเซียร้อยละ 5 อินโดนีเซียร้อยละ 3.1 เวียดนามร้อยละ 3 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 2 โดยการส่งออกไปยังสิงคโปร์และมาเลเชียมีอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 13.9 และ 20.1 ตามลำดับ
2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้คะแนนรัฐบาลระดับ B+
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้คะแนนผลการทำงานของรัฐบาลในระดับ B+ เนื่องจากเชื่อมั่นในการทำงานและความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการชะลอลงทุนของโครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เสนอให้เอกชนพิจารณารายละเอียดโครงการที่ถูกระงับการลงทุนจำนวน 65 โครงการอีกครั้ง ว่ามีโครงการใดสามารถเข้าหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับ 11 โครงการ ซึ่งศาลปกครองได้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปี 53 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี ส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 52 จนถึงต้นปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญมากมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ อาทิ (1) การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 1.16 แสนล้านบาท (2) มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (3) มาตรการสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐวงเงิน 927 พันล้านบาท และ (4) แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็งวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท ที่จะเร่งการลงทุนภาครัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ในปี 53
3. กรีซยังไม่พ้นวิบากกรรม มูดี้ส์หั่นเครดิตพันธบัตร, อังกฤษยังไม่พ้นถดถอย
  • บ.มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ฯ ประกาศลดอันดับเครดิตพันธบัตรของรัฐบาลกรีซลงตามหลัง บ.ฟิทช์ เรทติ้งส์ และ เอสแอนด์พี โดยปรับลดอันดับจากเดิมที่ A1 มาอยู่ที่ระดับ A2 และระบุให้แนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศกรีซเป็นลบ พร้อมระบุว่าการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหางบประมาณขาดดุล ซึ่งคาดว่าจะทะลุถึงร้อยละ 12.7 ในปีนี้ ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นบางส่วนของการบรรเทาความเสี่ยงระยะยาวเท่านั้น
  • ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ได้เปิดเผยจีดีพีไตรมาส 3/52 ว่าเศรษฐกิจอังกฤษยังไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอย โดยจีดีพียังคงหดตัวที่ร้อยละ -0.2 เทียบกับไตรมาส 2 ทำให้อังกฤษเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงชาติเดียวที่ยังเผชิญจีดีพีติดลบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าถึงแม้มูดี้ส์จะปรับลดอันดับเครดิตของกรีซลงมาอยู่ที่ระดับ A2 แต่ก็ยังสูงกว่าทาง บ.ฟิทช์ฯ และเอสแอนด์พี ที่ปรับลดลงจากระดับ A- เป็น BBB+ อยู่ 2 ชั้น เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลกรีซจะเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ระดับนี้เป็นระดับที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร ส่วนของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/51 แม้จะพบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นจากผลผลิตในหมวดก่อสร้าง แต่ก็ถูกหักลบด้วยผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ปรับตัวลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ