บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง เศรษฐกิจไทย...เมื่อเครื่องยนต์ส่งออกเริ่มขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2009 11:41 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

เดือนพฤศจิกายน 2552 มูลค่าสินค้าส่งออกขยายตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่นับรวมถึงการส่งออกทองคำแล้ว มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี

ปริมาณการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2552 เริ่มกลับมามีทิศทางขยายตัวชัดเจนขึ้น โดยขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี จากไตรมาส 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี จากการที่เครื่องยนต์ใหญ่สุดในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ GDP ในไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี

จากสัญญาณเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะทำให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 รวมถึงมีปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้สศค. คาดว่า ในปี 2553 นี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ หลังจากที่หดตัวในปี 2552

1. ส่งออก-นำเข้าไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 ก้าวเข้าสู่ทิศทางการขยายตัว

มูลค่าสินค้าส่งออกอยู่ที่ 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 12,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -17.5 ต่อปี โดยหดตัวร้อยละ -28.9 ต่อปีในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัว ทำให้ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2552 เกินดุลที่ 1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมทั้งหมด 11 เดือนของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการส่งออกที่หักทองคำในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 16.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนเช่นกัน ขณะที่ปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.1 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกที่หักทองและขจัดผลทางฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้ว พบว่า การส่งออกที่หักทองในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 0.2 ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัว ได้แก่ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักได้กลับสู่ภาวะฟื้นตัวหลังจากที่หดตัวมากในช่วงไตรมาสแรก ทำให้มีคำสั่งซื้อกลับมาในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 และ 4 2) ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี จากผลของราคาสินค้าเกษตรและเชื้อเพลิงที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.2 และ 29.9 ต่อปี ตามลำดับ เป็นอีกแรงผลักดันทำให้การส่งออกไทยขยายตัว 3) ปัจจัยฐานต่ำ โดยวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยหดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2551 จึงเป็นปัจจัยฐานต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อการคำนวณอัตราการขยายตัว

ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2552 หดตัวชะลอลงมาก ได้แก่ 1) การนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือ และรถไฟกลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 2) อุปสงค์ภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะขยายตัวสูงที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี

เมื่อพิจารณารายสินค้าและรายประเทศ จะพบว่า สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ ยกเว้นญี่ปุ่นที่ยังคงหดตัวอยู่เล็กน้อย โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวถึงร้อยละ 77.1 ต่อปี ทำให้ประเทศจีนมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นมีปัญหาทั้งนี้ สามารถสรุปสินค้าส่งออกสำคัญ 7 รายการ (มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 33.4 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดของไทย) ที่มีการขยายตัวไปยังในแต่ละประเทศได้ ดังนี้

คอมพิวเตอร์

 ประเทศ/สินค้า      และส่วนประกอบ   ผลิตภัณฑ์ยาง    เครื่องใช้ไฟฟ้า   เคมีภัณฑ์   รถยนต์   เม็ดพลาสติก    แผงวงจรไฟฟ้า
 สหรัฐอเมริกา             /            /
 สหภาพยุโรป                           /             /                   /                       /
 ญี่ปุ่น                    /                                              /                       /
 จีน                     /            /             /           /                 /             /
 อินเดีย                  /            /                         /       /         /             /
 มาเลเซีย                /            /                         /       /                       /
 ออสเตรเลีย              /                                              /         /
 ตะวันออกกลาง            /                                      /                 /
 เวียดนาม                                                       /       /         /
 สิงคโปร์                                            /           /                               /



2. คาดการณ์ส่งออกจากสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

การคาดการณ์การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 นั้น มีสมมุติฐานคือเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ซึ่งหากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไทยย่อมปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยประเทศคู่ค้าที่จะพิจารณาประกอบไปด้วยกลุ่มยูโรโซน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีสัดส่วนรวมร้อยละ 43.8 ของการส่งออกไทยในปี 2551 สำหรับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ยอดค้าปลีก การนำเข้าของประเทศจีน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เป็นดัชนีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ใช้เป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ของสภาพเศรษฐกิจนั้นๆ โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยล้วนแล้วแต่กลับมาอยู่ในระดับที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีของญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในปี 51 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยตัวเลขล่าสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 54.3 ในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่เริ่มขยายตัวชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับปกติก่อนวิกฤตได้

ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจของประเทศที่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งหากดูทิศทางแล้ว พบว่านอกจากยูโรโซนแล้ว ยอดค้าปลีกของคู่ค้าหลักของไทยล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถในการส่งออก ทั้งสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อรายได้ของผู้บริโภค ทั้งนี้ หากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้การบริโภคโดยรวมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลต่อดีการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าคงทน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของประเทศคู่ค้าหลักของไทยนั้น ล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การนำเข้าที่เร่งขึ้นของประเทศจีน จีนเป็นประเทศที่ช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกไม่ให้หดตัวตามที่ควรจะเป็น ผ่านช่องทางการนำเข้าที่ได้รับแรงสนับสนุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากจีนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2552 การนำเข้าของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 26.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปีซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า ในอนาคต จีนจะมีบทบาทที่มากขึ้นในวงการการค้าโลก

แม้ยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะสหรัฐฯและยูโรโซนที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่สศค. คาดว่า สถานการณ์การว่างงานจะมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทำให้สศค. คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปี 2552 ต่อเนื่องไปถึงปี 2553 จะมีทิศทางที่สดใส

3. วิพากย์ GDP ในไตรมาส 4 ผ่านช่องทางการส่งออก

ปริมาณการส่งออกของไทยใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การส่งออกในเดือนธันวาคม 2552 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 0.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี เป็นที่ชัดเจนว่าภาคการส่งออกของไทยหลุดพ้นจากการหดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปริมาณการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้เกิดกิจกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปีรวมทั้งส่งผลให้การว่างงานในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และจะเป็นแรงผลักดันให้การบริโภคกลับมาขยายตัวอีกครั้ง รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่อยู่ที่ร้อยละ 60.3 ของกำลังการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะส่งผลให้การลงทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับประเทศไทย การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ด้านอุปสงค์ ขณะที่ในด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงเช่นกันที่ร้อยละ 40.2 ของ GDP ดังนั้น การส่งออกและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 4 รวมถึงมีปัจจัยเกื้อหนุนจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ในไตรมาส 4 ของไทยกลับมาขยายตัวได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาส4 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2552

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ