รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 25 ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพ.ย. 52 จัดเก็บได้สุทธิ 127,445 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 20,356 ล้านบาทหรือร้อยละ 19.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.4 ต่อปี โดยภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทั้งนี้ ภาษีฐานรายได้หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ดีกว่าช่วงเดือนก่อนหน้า สะท้อนการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของรายได้ประชากร และสอดคล้องกับการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค. 52 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี ผลจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าและการบริโภคภายในประเทศดีขึ้น

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 52 มีจำ นวนทั้งสิ้น 3,993.1 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า -8.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP จากการลดลงของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลงสุทธิ 5.3 พันล้านบาท โดยที่เกิดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ไถ่ถอนพันธบัตรจำนวน 2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ นอกจากนี้การแข็งขึ้นของค่าเงินบาทจาก 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือน ก.ย. 52 มาสู่ระดับ 33.4 ณ ต.ค. 52 ส่งผลให้ยอดหนี้ต่างประเทศลดลง 1.5 พันล้านบาท

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ย. 52 เบิกจ่ายได้จำนวน 188.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.2 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 160.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.5 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนจำนวน 5.3 พันล้านบาท หดตัวถึงร้อยละ -70.4 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายที่สำคัญได้แก่ 1) รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 23.4 พันล้านบาท 2) รายจ่ายอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 16.5พันล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 278.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 จะเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 94.0

อัตราการว่างงานเดือนต.ค. 52 กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 4.1 แสนคน โดยปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานเดือนต.ค. 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 หรือคิดเป็นจำนวนคนเท่ากับ 5 แสนคน จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ -1.0 หรือลดลง 6.2 หมื่นคน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.3 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 ต่อปี ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการต่างมีเทคนิคในมีการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.2 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.03 ต่อปี จากการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถปิคอัพและการจำหน่ายรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 18.2 และ 25.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ฟื้นตัว กอปรกับปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลทั้งด้านราคาที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี โดยการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 38.5 ต่อปี ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีเช่นเดียวกัน ในขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนพ.ย. 52 หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -17.5 ต่อปี โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 18.8 ต่อปีสินค้าทุนหดตัวเพียงร้อยละ -4.1 ต่อปี และหากหักหมวดพิเศษแล้วจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี บ่งชี้การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือนพ.ย. 52 เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือนพ.ย. 52 คาดว่าจะเกินดุลที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดุลการค้าที่เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาคคาดว่าจะเกินดุลที่ 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในเดือนพ.ย.52 ที่จำนวน 1. 4 ล้านคน

Major Trading Partners’ Economies: This Week

มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 52 ดีขึ้น โดยหดตัวชะลอลงมากที่สุดในรอบ 14 เดือนที่ร้อยละ -6.2 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 จากเดือนก่อนหน้า (%mom) จากการส่งออกที่ดีขึ้นในหมวดยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -16.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ชะลอลงมากที่สุดในรอบ 12 เดือน ส่งผลให้ดุลการค้าของญี่ปุ่นเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ที่ 373.9 พันล้านเยน หรือ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 52 (Final GDP) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq) หรือหดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปีเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนผ่านการให้ส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์ใหม่ (Cash for Clunkers) และการให้เครดิตภาษีสำหรับการซื้อบ้านใหม่ การส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น

ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ของสหรัฐฯ เดือนพ.ย. 52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 32 เดือน ที่ร้อยละ 7.4 จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวนบ้านต่อปีที่ 6.54 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 6.09 ล้านหลัง จากราคาบ้านที่ลดลงและดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับราคากลางบ้านมือสอง (Median Home Price)เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 172,600 ดอลลาร์สหรัฐแต่ยังคงต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายบ้านใหม่ในเดือน พ.ย. 52 หดตัวสูงที่สุดในรอบ 10 เดือนโดยหดตัวที่ร้อยละ -11.3 จากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวนบ้านต่อปีที่ 355,000หลัง เนื่องจากการขยายเวลาของมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อบ้านออกไปจนถึง เม.ย. 53

การส่งออกของยูโรโซนเดือน ต.ค. 52 มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 11 เดือนที่ 117.3 พันล้านยูโร หรือหดตัวที่ร้อยละ -16.8 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.5 ต่อปี สาเหตุหลักจากการส่งออกของเยอรมันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ 108.6 พันล้านยูโรหรือหดตัวที่ร้อยละ -23.6 ต่อปีส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 8.8 พันล้านยูโร สูงที่สุดในรอบ 3 เดือน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนต.ค. 52 หดตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -18.2 ต่อปีสำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -16.8 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -25.0 ต่อปี โดยดุลการค้าขาดดุล 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกของฟิลิปปินส์จะหดตัวเล็กน้อยในเดือนพ.ย. 52 และจะกลับมาขยายตัวได้ในเดือนธ.ค. 52

คำสั่งซื้อภาคส่งออก (Export Orders) ของไต้หวันในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวถึงร้อยละ 37.1 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี โดยอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ (สัดส่วนใหญ่ที่สุดร้อยละ 27.5 และร้อยละ 24.3) ขยายตัวร้อยละ 33.9 ต่อปี และร้อยละ 43.2 ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้จีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับที่ 1 และ 2 เพิ่มคำสั่งซื้อร้อยละ 73.3 ต่อปี และร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออกไต้หวันในไตรมาสที่ 4สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ในเดือน พ.ย. 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 31.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี

อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ในเดือน พ.ย. 52 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบรายเดือน ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงภาคการบริโภคภายในประเทศสิงคโปร์ที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเดือนพ.ย. 52 ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับร้อยละ0.6 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับร้อยละ 2.2 ต่อปีสะท้อนการที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อัตราเงินเฟ้อเวียดนามในเดือนพ.ย.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.35 ต่อปีเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี จากการขยายตัวของราคาอาหาร โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่า ทางการเวียดนามาจะใช้วิธีสกัดอัตราเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ 8.0 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 52 แล้วก็ตาม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ