รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 และ 2553 “กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 สูงกว่าคาดการณ์ และเข้าสู่แดนบวกในปี 2553”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 10:42 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2552 และ 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เป็นร้อยละ -2.8 และจะเข้าสู่อัตราเติบโตเป็นบวกในปี 2553 ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐ และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนรวมถึงเศรษฐกิจโลก

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ -2.8 ต่อปี ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี แต่จากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัว ที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้า ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกัน ของปีก่อน สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่า จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการเดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 และ แรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องไปยังปี 2553 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชน กลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2553

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การใช้จ่าย ภาคเอกชนในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2552 โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 จะกลับมาขยายตัว เป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ จากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -1.3 และ -12.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้า และบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี เนื่องจาก การฟื้นตัวที่ดีกว่า ที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้า ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาด การณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี) ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ส่วนเสถียรภาพภายนอก ประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 — 3.7 ของ GDP) เนื่องจากการนำเข้าที่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมผลกระทบของปัญหาการ ระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุดไว้แล้ว โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการลงทุนในเขตมาบตาพุดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัดเบิกจ่าย โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรอบวงเงินอนุมัติ รวมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเมืองให้มั่นคง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในกรณีสูงของช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 และ 2553 (ณ เดือนธันวาคม)

                                                                 2551    2552 f    2553 f
                                                                                    เฉลี่ย          ช่วง

สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก

1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  2.7      -1.2        3        2.5 — 3.5
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)                           95      61.4       80       75.0 — 85.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       10.5     0.3         7        6.0 — 8.0
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       12.6     -3.4       6.8       6.0 — 8.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)                               33.2     34.3       33       32.0 — 34.0
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       2.75     1.25       1.5      1.25 — 1.75
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.17     2.45      2.55        2.5-2.6

ผลการประมาณการ

1)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                           2.5      -2.8       3.5       3.0 — 4.0
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         3        0         3.4       2.9 — 3.9
    - การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                   2.7      -1.3       3.3       2.8 — 3.8
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                       4.6      7.6        3.9       3.4 — 4.4
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         1.2       -9        7.8       6.8 — 8.8
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    3.2     -12.7        8        7.0 — 9.0
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        -4.6     2.6        7.4       6.4 — 7.4
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                5.1      -13         8       7.5 — 8.5
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                8.5     -21.5      17.4      16.9 — 17.9
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                                    0.1      20.4       7.8       6.8 — 8.8
     - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       15.9    -14.8      15.5      14.5 — 16.5
     - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       26.5    -25.9      27.7      26.7 — 28.7
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                               1.6      21.3       9.6      8.6 — 10.6
     - ร้อยละของ GDP                                              0.5      8.1        3.3       2.8 — 3.8
 8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                    5.5      -0.8       3.4       3.0 — 4.0
     อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                  2.4      0.4        1.5       1.0 — 2.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                         1.4      1.6        1.3       1.0 — 1.5

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 และ 2553

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2552

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี จะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไทยคาดว่า จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ใน ไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ดังสะท้อนได้จากการบริโภค ภาครัฐในปี 2552 ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐในปี 2552 ที่คาดว่า จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี จากที่หดตัวในปีก่อนที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี นอกจากนั้น การฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจ คู่ค้าหลักของไทยจะช่วยให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสสุดท้ายของปีกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้า และบริการในปี 2552 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิมมาอยู่ที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวลงที่ ร้อยละ -21.5 ต่อปี เนื่องจาก การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาการระงับ การลงทุนบริเวณมาบตาพุด ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -12.7 ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ให้ประชาชน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาอาหารสด) คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี นอกจากนั้นอัตรา การว่างงาน คาดว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลสูงมากถึงร้อยละ 8.1 ของ GDP เนื่องจาก การเกินดุลการค้าที่สูงถึง 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากมูลค่าสินค้านำเข้าที่หดตัวลงมากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้า

นำเข้าในปี 2552 จะหดตัวมากจากฐานสูงในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ         -25.9 ต่อปี  ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่
ร้อยละ -14.8 ต่อปี

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2553

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) ปรับ เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการเดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 และแรงส่งของ นโยบายการคลังและการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปลายปี 2552 โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.4— 8.4 ต่อปี) ขณะที่การบริโภคภาครัฐในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 — 4.4 ต่อปี) นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุน จาก รายได้ภาคครัวเรือนที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานที่ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นตาม ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ที่มีผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน ทำให้คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8 ต่อปี) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าการใช้จ่ายในโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทย เข้มแข็งจะช่วยดึงให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย (Crowding-in Effect) และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำ จะเอื้อ ให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2552 มาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 — 9.0 ต่อปี) สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5 — 8.5 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้า และบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 17.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.9 — 17.9 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายใน ประเทศและการผลิตสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราการ ว่างงานคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงาน (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 — 1.5 ของกำลังแรงงาน) ในด้าน เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงคาดการณ์ที่ 6.8 — 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจาก มูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 15.5 ต่อปี (ช่วงคาด การณ์ที่ร้อยละ 14.5 — 16.5 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก ในขณะที่มูลค่าสินค้านำ เข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 26.7 — 28.7 ต่อปี) ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ และราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะ ส่งผลให้การส่งออกของไทยสูงขึ้น และการเร่งลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคา สินค้าเกษตรในตลาดโลก และการจ้างงานที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะช่วยให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมาจาก ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และความล่าช้าในการแก้ปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุด รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกระทบให้ภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่า ที่คาด ดังนั้น ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และต้องเร่งผลักดันให้ภาค เอกชนกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเร็ว

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 184/2552 28 ธันวาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ