ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 12:09 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัว 49.7 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยระดับรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรายได้ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤศจิกายนและตุลาคม 2552 ตามลำดับ

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลักหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมนั้นปรับเพิ่มขึ้น 54.1 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากปรับเพิ่มขึ้น 50.2 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.2 ที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures - Real PCE) ขยายตัวร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนพฤศจิกายนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หลังจากชะลอตัวร้อยละ 2.5 ในเดือนตุลาคม มูลค่าการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 หลังจากอยู่ที่ระดับคงตัวในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการชะลอตัวร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ในเดือนตุลาคม 2552

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.3 ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนตุลาคม 2552 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันคงตัวที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า หลังจากขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนตุลาคม

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงคงตัวจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 4.7

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
                        Average Growth     October    November
                        last 12 months       2009       2009
   Personal Income           0.0%            0.3%       0.4%
   Real DPI                  0.1%            0.2%       0.2%
   Real PCE                  0.1%            0.4%       0.2%
   PCE Price                 0.1%            0.3%       0.2%
   Personal Saving Rate      4.6%            4.7%       4.7%
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

ปริมาณการขายบ้านใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยชะลอตัวกว่าร้อยละ 11 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาบังคับใช้มาตรการให้เครดิตภาษีรวม 8,000 เหรียญสรอ. แก่ผู้ซื้อบ้านครั้งแรก จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาออกไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2553 ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคยืดเวลาการตัดสินใจซื้อบ้านออกไป ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ขยายขอบเขตการให้เครดิตภาษีแก่ผู้มีบ้านอยู่แล้วที่ต้องการย้ายที่อยู่อาศัยอีกด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ปริมาณการขายบ้านใหม่ในเดือนพฤศจิกายนจะอ่อนตัว แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมปรับตัวดีขึ้นกว่าร้อยละ 8 จากช่วงตกต่ำที่สุดในเดือนมกราคม 2552

ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปบริโภคส่วนบุคคลที่กระเตื้องขึ้งต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ประกอบกับรายได้ส่วนบุคคลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากอัตราการว่างงานที่ลดลงในเดือนก่อนหน้า ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งนับเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป นับเป็นสัญญาถึงเสถียรภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 ซึ่งน่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ