รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ม.ค. 2553

Summary:

1. ปลัด ก.พาณิชย์คาดภายใน 3 ปี มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเป็นสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท

2. ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs เดือนพ.ย.52 เพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ

3. ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549

Highlight:
1. ปลัด ก.พาณิชย์คาดภายใน 3 ปี มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเป็นสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง การที่ประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ พม่า สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ประกอบกับมีเส้นทางเชื่อมต่อยังจีนตอนใต้ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้ให้กับประเทศในปี 51 ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท ขณะที่ใน ปี 52 จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนลดลง ร้อยะ 13 ต่อปี แต่ในปี 2553 คาดว่าจะมีมูลค่า 7.2 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14-15 ต่อปี และภายใน 3 ปี หลังจากจัดระบบการค้าและภายในกรอบการเปิดเสรีอาฟต้า น่าจะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 ไทยมีมูลค่าการค้ากับ 4 ประเทศ 752 พันล้านบาท ลดลงจาก 11 เดือนแรกของปีก่อนร้อยละ -15.6 ต่อปี มีมูลค่าการค้ากับมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา เท่ากับ 500.2 136.0 65.5 และ 51.3 พันล้านบาทตามลำดับ และเกินดุลการค้ากับลาวและกัมพูชารวมกัน 83 พันล้านบาท แต่ขาดดุลกับมาเลเซียและพม่ารวมกัน -73 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปิดเสรี AFTA จะส่งผลให้มูลค่าการค้ากับ 4 ประเทศนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนบริเวณชายแดนมีรายได้มากขึ้น ส่งผลบวกต่อการบริโภคของแต่ละประเทศ ดังนั้น การเติบโตของหุ้นส่วนเศรษฐกิจจะเอื้อต่อการเติบโตของไทยด้วย
2. ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs เดือนพ.ย.52 เพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ
  • ผอ.สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการในกลุ่ม SMEs ในเดือนพ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 50.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.52 อยู่ที่ระดับ 44.4 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.7 50.0 และ 51.3 ตามลำดับ ในขณะที่คาดการณ์ 3 เดือน ข้างหน้าคาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 53.1 โดยรับผลบวกจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เทศกาลท่องเที่ยว-การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ในเดือนพ.ย.52 ที่ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของของผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มหดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ -7.1 -4.9 และ -2.8 ต่อปี ใน Q1 Q2 และ Q3 ตามลำดับ และคาดว่าใน Q4 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี เนื่องจาก ได้รับปัจจัยบวกจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล ทำให้การใช้จ่ายผ่านการบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่ง Momentum มายังปี 53 ส่งผลให้คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงยังคงมี เช่น ราคาน้ำมันและปัญหาทางการเมือง
3. ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549
  • ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg Purchasing Manager Index) ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 52 อยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 49 ที่ระดับ 55.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 สอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนและยุโรป ในเดือน ธ.ค. 52 ที่ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดย NBS PMI ของจีน เพิ่มสูงที่สุดในรอบ 20 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 56.6 ขณะที่ Mfg PMI ของยูโรป เพิ่มสูงที่สุดในรอบ 21 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 51.6 สะท้อนภาคอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจสำคัญของโลกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จีน และยุโรป เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจของทั้ง 3 กลุ่มประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องมาจากภาคการผลิตของประเทศดังกล่าวจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลให้รายได้และการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นด้วย โดยที่ สศค. คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี และ GDP ของยุโรป ในไตรมาสที่ 4 จะหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.1 ต่อปี เป็นผลจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคการจ้างงานยังคงมีความเประบาง และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ในอนาคต ทั้งนี้ไทยส่งออกสินค้าไปยัง 3 ประเทศนี้ รวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ทำให้มีอิทธิพลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ