รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2010 12:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ม.ค. 2553

Summary:

1. ครม.เศรษฐกิจรับทราบสถานการณ์ว่างงานลดลง เริ่มเห็นสัญญาณขาดแคลนแรงงาน

2. ความมั่นใจผู้บริโภคไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

3. ก.พาณิชย์ คาด AFTA จะส่งผลให้มูลค่าการค้าไทย-อาเซียน ขยายตัว 25%yoy ในปี 53

Highlight:
1. ครม.เศรษฐกิจรับทราบสถานการณ์ว่างงานลดลง เริ่มเห็นสัญญาณขาดแคลนแรงงาน
  • ครม.เศรษฐกิจรับทราบรายงานแรงงานไทย โดยอัตราการว่างงานรายเดือนในปี 52 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประมาณว่าอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.52 จะลดลงเหลือร้อยละ 1.1 หรือคิดเป็นประมาณ 400,000 คน จาก เม.ย.2552 ที่มีอัตราว่างงานสูงสุดร้อยละ 2.1 ขณะที่มีผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนว่างงาน ลดลงเหลือ 40,638 คนในเดือน พ.ย. 52 จากสูงสุด 101,939 คนในเดือน ก.พ.52 นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานภาคอิเล็คทรอนิคส์และยานยนต์ ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาถูกเลิกจ้างไปบางส่วน และไม่มีความสนใจที่จะกลับมาทำงานเดิมอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 6 เดือน นับตั้งแต่ในเดือน เม.ย.52 เป็นต้นมา จากระดับร้อยละ 2.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในเดือน ต.ค.52 หรือคิดเป็นจำนวนจาก 8.1 แสนคน ลดลงเหลือ 4.1 แสนคน แสดงให้เห็นถึงการจ้างงานที่กลับเข้ามาหลังจากภาคการผลิตมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.52 ตัวเลขจ้างงานอยู่ที่ 37.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อเดือน (%mom:sa) โดยมีสาขาที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย สาขาค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราว่างงานในปี 52 เฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และการว่างงานที่ลดลงนี้จะช่วยให้การบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น
2. ความมั่นใจผู้บริโภคไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
  • มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ เผยผลสำรวจความมั่นใจผู้บริโภคไทยในครึ่งแรกของปี 2553 ว่าดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยคะแนนความมั่นใจของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 23.0 คะแนนจากผลสำรวจกลางปี 2552 เป็น 53.3 คะแนน โดยผู้บริโภคกว่า 49% มั่นใจว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า และกว่า 47 % เชื่อว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะปรับดีขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 52 ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขยายตัวในระดับสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะยังต่ำอยู่ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 52 ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 52 จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และจะขยายตัวไดดีในปี 53 ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี
3. ก.พาณิชย์ คาด AFTA จะส่งผลให้มูลค่าการค้าไทย-อาเซียน ขยายตัว 25%yoy ในปี 53
  • กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการเปิดเสรีการค้าสินค้าในกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) อย่างเต็มรูปแบบในปี 53 จะส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ต่อปี จากเดิมที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละร้อยละ 20 ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับหนึ่งในปี 52 ที่ระดับมูลค่า 41.3 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เพื่อให้การขยายตัวของทางการค้าเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 25 ภาคเอกชนจะต้องใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลงดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยในปัจจุบันได้มีการใช้สิทธิประโยชน์เพียงร้อยละ 39 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า AFTA จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของตลาดส่งออกไทย โดยใน 11 เดือนแรกของปี 52 มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อาเซียน 9 ประเทศ ร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทย-โลก แม้ในปี 52 จะหดตัวลง -22.1%yoy แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 49 50 และ 51 ขยายตัว 10 14 และ 21%yoy สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของตลาดอาเซียน และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 52 ไทยเกินดุลการค้าอาเซียน 9 อยู่ 6.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ดังนั้น หากมูลค่าการค้าในปี 53 ขยายตัวได้ในอัตราสูง จะส่งผลให้เกิดการผลิต การลงทุน การจ้างงาน เพิ่มมากขึ้น และอาจมียอดการเกินดุลสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 53 มูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 173 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (+15.5%yoy) และมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 165 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (+27.7%yoy) เกินดุลการค้า 7.8 พันล้านดอลลาร์สรอ.

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ