รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2010 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 ม.ค. 2553

Summary:

1. สศอ. ผวาเสรีอาเซียน — จีน ยันเปิดอาฟตาได้ประโยชน์

2. จีนแซงเยอรมนีส่งออกใหญ่สุด

3. เจแปนแอร์ไลน์อาจยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลาย

Highlight:
1. สศอ. ผวาเสรีอาเซียน — จีน ยันเปิดอาฟตาได้ประโยชน์
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า การเปิดเสรีการค้าอาเซียนหรืออาฟตาจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไทย เนื่องจาก ไทยมีสินค้าหลายกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง อาทิเช่น เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการนำร่องลดภาษีเป็น 0 ก่อนจำนวน 85% ของรายการสินค้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2550 ก็พบว่า ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ส่งออกมากกว่านำเข้า ขณะที่การเปิดเสรีอาเซียน — จีน ในหมวดอุตสาหกรรมจะกังวลสินค้าจากจีนมากกว่า เพราะจีนมีอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่มีความเข้มแข็ง มีผู้ผลิตจำนวนมาก มีเทคโนโลยีของตัวเองและสามารถผลิตสินค้าได้หลายระดับ ไม่จำกัดเฉพาะสินค้าราคาถูก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้เปรียบกลุ่มประเทศในอาเซียนเนื่องจากการผลิตมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดี และอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ ซึ่งการเปิดเสรีอาฟตาจะทำให้ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน และการลงทุนของประเทศ โดยในปี 51 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน(5) ร้อยละ 16.9 ทั้งนี้ การเปิดเสรีอาฟตา อาเซียน - จีน และอาเซียน - เกาหลีใต้คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอย่างเต็มที่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 53 สามารถขยายตัวได้ในกรณีสูงตามที่ สศค. ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี
2. จีนแซงเยอรมนีส่งออกใหญ่สุด
  • กรมศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกของจีนเดือน ธ.ค. 52 ได้ทะยานขึ้นไปร้อยละ 17.7 ต่อปี เพิ่มสูงสุดครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกในปี 52 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่องค์การการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีคาดว่าการส่งออกของเยอรมนีในปี 52 จะอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียรายนี้ได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่จีนขึ้นมาเป็นประเทศส่งออกอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากสินค้าส่งออกของจีนมีการกระจายตัวที่ดีกว่า แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าไฮเทค และสินค้าเครื่องจักรกล ซึ่งในปี 51 มีสัดส่วนร้อยละ 21.6 29.1 และ 23.7 ของมูลค่าส่งออกรวม แต่สินค้าหมวดดังกล่าวมักจะเป็นการส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เพื่อนำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูป แล้วเก็บเป็นสินค้าคงคลังได้ ในขณะที่สินค้าส่งออกหลักของเยอรมนี มักเป็นสินค้าคงทนสำเร็จ ซึ่งอ่อนไหวต่อรายได้ โดยในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกประสบภาวะวิกฤตจึงทำให้เยอรมนีส่งออกได้ไม่มากเท่าที่ควร อนึ่ง การส่งออกของจีนเดือนธ.ค. 52 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือนนั้น สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (NBS PMI) ที่อยู่ที่ 56.6 สูงสุดในรอบ 20 เดือน สะท้อนภาคการผลิตของจีนซึ่งฟื้นตัวอย่างเต็มที่และพร้อมที่จะรองรับอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าได้ โดยในปี 53 สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.7-9.0 ต่อปี
3. เจแปนแอร์ไลน์อาจยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลาย
  • สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) อาจยื่นขอความคุ้มครองต่อศาลล้มละลาย แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าถือหุ้นร่วมจากสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์และสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งสัญญาณว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจต้องเข้าช่วยเหลือ JAL เพิ่มเติม ภายหลังจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปก่อนหน้าแล้วรวม 3 ครั้ง ทั้งนี้ ได้มีหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นเสนอให้ JAL เข้ารับการฟื้นฟูองค์กรโดยอาศัยอำนาจของศาล (court-led rehabilitation process) นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า JAL อาจปลดพนักงาน 15,600 ตำแหน่ง หรือประมาณ 30% ของจำนวนพนักงานภายในองค์กร ภายในรอบปีงบการเงินที่สิ้นสุด ณ เดือนมี.ค.2556 ภายใต้แผนฟื้นฟูของหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การยื่นขอรับความคุ้มครองการล้มละลายของ JAL เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในภาคบริการ แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกจะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทั้งนี้ หาก JAL ปรับลดพนักงานลงจริงจะส่งผลต่อภาวะการว่างงานที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 5.2 ในเดือน พ.ย. 52 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ ร้อยละ 5.1

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ