นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบโดยเร่งด่วน โดยให้กรมบัญชีกลางเร่งดำเนินการคัดแยกลูกหนี้ให้ธนาคารเพื่อให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับการประนอมหนี้ และให้สินเชื่อเพื่อชำระหนี้ให้เร็วที่สุด
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เปิดเผยจำนวนผู้เข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รอบแรก ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2552 มีผู้ลงทะเบียนจำนวน 990,588 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 104,974.13 ล้านบาท อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 67,362 ราย มูลหนี้ 6,254.70 ล้านบาท และทางภูมิภาค จำนวน 923,226 ราย มูลหนี้ 98,719.43 ล้านบาท โดยเฉลี่ยรายละ 100,000 บาท โดยการช่วยเหลือในเบื้องต้น ทางคณะกรรมการเจรจาประนอมหนี้ได้วางแนวทางกรณีมูลหนี้ไม่ถึง 50,000 บาทต่อราย ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน สามารถเจรจาประนอมหนี้เจ้าหนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการประนอมหนี้ระดับจังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดการช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น และยังได้มอบนโยบายให้แก่กรมบัญชีกลางเร่งดำเนินการในขั้นตอนการคัดแยกประเภทหนี้และส่งให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุดแล้ว โดยมีการแบ่งการดำเนินงาน ดังนี้ ธนาคารออมสินดูแลลูกหนี้ประชาชนทั่วไป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแลลูกหนี้ภาคเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยดูแลลูกหนี้ในเขตชายแดนภาคใต้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ดูแลลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดูแลลูกหนี้ SME
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ยังสามารถลงทะเบียนได้ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ โดยได้มีการขยายระยะเวลาการลงทะเบียนออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 มกราคมนี้ และได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางสรุปรายงานผลการลงทะเบียนภายในสัปดาห์นี้ ในส่วนของการคัดแยกประเภทลูกหนี้นั้น ทางสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ จะเป็นผู้เข้าไปดูข้อมูลในระบบจากที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะส่งให้คณะกรรมการเจรจาประนอมหนี้ในระดับจังหวัดพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าลูกหนี้รายใดสามารถเรียกมาเจรจาประนอมหนี้กันได้ หรือรายใดประสงค์จะเข้าระบบของธนาคารต่อไป
โดยธนาคารจะชดใช้หนี้ให้ก่อนและจ่ายผ่อนชำระคืนธนาคารพร้อมดอกเบี้ยในราคาต่ำ ซึ่งอาจมีบางรายที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ต่อได้ คือทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่มาติดต่อเลย สำหรับผู้ที่ผ่านการเจราจาหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสามารถรับเงินกู้โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท
2. อัตราดอกเบี้ย
- อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ใน 3 ปีแรก
- สำหรับธนาคารออมสินใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ตลอดระยะเวลาการกู้
3. ระยะเวลาการผ่อนชำระไม่น้อยกว่า 8 ปี เว้นแต่ผู้กู้สมัครใจทำสัญญากู้น้อยกว่า 8 ปี ผู้กู้สามารถชำระหนี้ก่อนกำหนดได้โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
4. หลักประกันการโอนหนี้
- วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 1 คน
- วงเงินกู้ตั้งแต่ 100,001 — 200,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน
- ผู้ค้ำประกันต้องมีรายได้รวมไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของวงเงินกู้ หลักประกัน
กรณีของ ธ.ก.ส. ที่เป็นเกษตรกรค้ำประกัน
- วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ใช้ผู้ค้ำประกัน 2 คน
- วงเงินกู้ตั้งแต่ 100,001 — 200,000 บาท ให้ใช้หนังสือรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อย่างน้อย 5 คน
“สำหรับรายที่เข้าระบบของธนาคารและเป็นไปตามเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือนั้น คาดว่าจะจ่ายเงินให้ภายใน 1 สัปดาห์” นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมบัญชีกลาง
โทร.02-273-101
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 3/2553 11 มกราคม 53--