ภาวะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2010 14:34 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

ภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนธันวาคม 2009 พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องแม้จะยังคงเปราะบางหลังจาก GDP ประจำไตรมาสที่ 3 มีอัตราการหดตัวที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 0.3 โดยในเดือนตุลาคมดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวเท่ากับเดือนที่แล้วหลังจากลงไปต่ำสุดที่ 85.4 จุดในเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกัน ราคาที่อยู่อาศัยในเดือนพฤศจิกายนก็ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนขยับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 1.9 จากผลของราคาพลังงานที่สูงกว่าปีที่แล้ว ในส่วนของตลาดแรงงานยังคงมีเสถียรภาพดีขึ้นต่อเนื่องเมื่อจำนวนผู้มีงานเริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนไตรมาสก่อนหน้า ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงโดยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.9 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่ายอดผู้ว่างงานจะยังสูงถึง 2.49 ล้านคนก็ตาม สำหรับนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม Bank of England ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank rate) ไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อไปเป็นเดือนที่ 9 และคงวงเงินรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน (Asset Purchased Facility) จำนวน 200 พันล้านปอนด์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยแม้จะยังอยู่ในระดับต่ำแต่ก็มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ดี การส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจยังมีไม่มากนักเมื่อสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังคงหดตัวลงต่อเนื่องแต่ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เสถียรภาพภายนอก (external stability) ยังคงปรับตัวดีขึ้นแม้การขาดดุลการค้าและบริการในเดือนตุลาคมจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 เนื่องจากการส่งออกมีการหดตัวเร็วกว่าการนำเข้า โดยยอดสะสม 10 เดือนการส่งออกและนำเข้าหดตัวร้อยละ 9.0 และ 9.9 ตามลำดับ ทำให้การขาดดุลสะสมน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 20 สำหรับค่าเงินปอนด์ในเดือนธันวาคมอ่อนค่าลงกับเงินทุกสกุล หลังจากกระเตื้องขึ้นบ้างในเดือนที่แล้ว

ฐานะการคลังยังคงเป็นปัญหาใหญ่โดยเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 32 เมื่อจัดเก็บรายได้ลดลงร้อยละ 3.0 แต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 60.2 เพิ่มจากร้อยละ 49.6 ในปีที่แล้ว

ภาพรวมเศรษฐกิจ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมทรงตัวที่ระดับ 86.5 เท่าเดือนก่อนแต่ค่าเฉลี่ย 3 เดือนหดตัวลงร้อยละ 1.4

ดัชนีชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index: IPI) ในเดือนตุลาคมทรงตัวที่ระดับ 86.5 จุด เท่ากับเดือนที่แล้ว หลังจากที่ดัชนีลงไปทำสถิติต่ำสุดที่ระดับ 85.4 จุดเมื่อเดือนสิงหาคม โดยหากพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของดัชนีช่วง 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม) พบว่าดัชนีติดลบร้อยละ 1.4 จากค่าเฉลี่ยของช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วเล็กน้อยและถือเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกันที่ค่าเฉลี่ยของดัชนีติดลบ อย่างไรก็ดี ดัชนีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการฟื้นตัวทีดีขึ้นแม้ดัชนีจะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในระดับหนึ่งที่จะช่วยให้ GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีทิศทางที่ดีขึ้น

โดยในเดือนนี้ค่าเฉลี่ย 3 เดือนของดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (Manufacturing) ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 77 หดตัวลงจาก 3 เดือนก่อนหน้า -0.5% (เดือนที่แล้ว -0.2%) ขณะที่ดัชนีผลผลิตด้านพลังงานไฟฟ้า น้ำ และ ก๊าซ ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 9 ในเดือนนี้หดตัวลง -0.9% (เดือนที่แล้ว +0.2%) ส่วนดัชนีผลผลิตภาคเหมืองแร่ ทรัพยากร ธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 14 ในเดือนนี้หดตัวลงจากเดือนที่แล้วค่อนข้างมาก -7.2% (เดือนที่แล้ว -5.7%)

ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีการผลิตตามระดับขั้นของผลผลิตพบว่าดัชนีหมวดที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ดัชนีสินค้าบริโภคชนิดคงทน (Consumer durables) ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 3.4 ในเดือนนี้ขยายตัว +0.8% (เดือนที่แล้ว -0.2%) และหมวดสินค้าทุน (Capital goods) ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 21 ในเดือนนี้ขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน +0.4% (เดือนที่แล้ว +0.1%) ขณะที่หมวดการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ หมวดผลผลิตสินค้าขั้นกลางและพลังงาน (Intermediate goods and energy) ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 49 ในเดือนนี้หดตัวลง -2.4% (เดือนที่แล้ว -1.2%) และหมวดสินค้าบริโภคชนิดไม่คงทน (Consumer non-durables) ซึ่งมีน้ำหนักร้อยละ 26 หดตัวลง -1.3% (เท่ากับเดือนที่แล้วที่หดตัว -1.3%)

House Price Index เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยทั่วประเทศวัดโดย Halifax House Price Index (HPI) ประจำเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 542.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 1.4 ถือเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนียังคงติดลบอยู่ร้อยละ 1.6 นับเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกันที่อัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นลบ โดยค่าเฉลี่ยของราคาที่อยู่อาศัยในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 167,664 ปอนด์ต่อหลัง ทั้งนี้ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ระดับ 646 จุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรที่ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จนส่งผลให้ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ระดับ 500 จุดเมื่อเดือนเมษายน 2009 หรือเท่ากับดัชนีลดลงร้อยละ 22.6 โดยดัชนีในเดือนนี้ต่ำกว่าจุดสูงสุดอยู่ร้อยละ 16.0

อัตราเงินเฟ้อ : CPI เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับร้อยละ 1.9 ขณะที่ RPI เริ่มบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายนเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วสู่ระดับร้อยละ 1.9 จากร้อยละ 1.5 ในเดือนที่แล้ว ถือเป็นเดือนที่ 2 ที่อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงโดยตลอดนับจากเดือนมีนาคมจนลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ ร้อยละ 1.1 ในเดือนกันยายน ถือว่าอัตราเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2.0 อีกครั้ง โดยการที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เร่งตัวขึ้นเร็วมาจากหมวดขนส่งคมนาคมเป็นสำคัญที่มีการเร่งตัวเร็วมากในเดือนนี้ (+6.9%) ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วเนื่องจากราคาพลังงานในเดือนนี้ของปีที่แล้วอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เร่งตัวเร็วขึ้นอีกจากเดือนที่แล้ว (+4.5%) หมวดสันธนาการและบันเทิงที่ทรงตัวเท่ากับเดือนที่แล้ว (+2.0%) และหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่ทรงตัวเท่ากับเดือนที่แล้ว (+1.6%) สำหรับหมวดสินค้าที่ส่งผลต่อการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมาจากหมวดหมวดรายจ่ายค่าสาธารณูปโภคที่ยังคง (-1.2%) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (-6.3%)

ทางด้านดัชนี Retail Price Index (RPI) ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.3 นับเป็นครั้งแรกที่เป็นบวกหลังจากที่ดัชนีติดลบติดต่อกัน 8 เดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มมของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้มาจากหมวดท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่เร่งตัวเร็วมากต่อจากเดือนที่แล้ว (+7.4%) หมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบที่ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อน (+3.5%) และหมวดอาหารและภัตตาคารที่เริ่มเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนนี้ (+1.2%) ขณะที่หมวดรายจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยและรายจ่ายในครัวเรือนเป็นเพียงหมวดเดียวที่ยังคงหดตัว (-4.8%)

อัตราการว่างงานมีเสถียรภาพที่ระดับร้อยละ 7.9 เมื่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมาย

ในรอบ 3 เดือนสิ้นสุดเดือนตุลาคม (สิงหาคม-ตุลาคม) จำนวนผู้มีงานทำ (employment level) มีจำนวน 28.926 ล้านคน เพิ่มขึ้น 53,000 คนจากรอบ 3 เดือนก่อนหน้า (พฤษภาคม-กรกฎาคม) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วจำนวนผู้มีงานทำลดลง 432,000 คน หรือลดลงร้อยละ 1.5 ซึ่งการที่จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นทำให้อัตราการมีงานทำทรงตัวที่ระดับร้อยละ 72.5 ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด (working age employment rate) เท่ากับไตรมาสก่อน สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานเริ่มมีเสถียรภาพดีขึ้น

ทางด้านจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในรอบสามเดือนจนถึงเดือนตุลาคมยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมียอดผู้ว่างงานเฉลี่ย 2.491 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21,000 คนจากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 608,000 คนเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.9 เท่ากับรอบไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันที่จำนวนผู้ว่างงานอยู่เหนือระดับ 2 ล้านคนและจำนวนผู้ว่างงานอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี 1995 อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานมีอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่สาม สะท้อนถึงเสถียรภาพในตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีชี้วัดรายได้ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของทั้งประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ชะลอลงต่อเนื่องนับจากสิ้นไตรมาสแรกของปี 2008 เป็นต้นมา จนลงมาต่ำสุดเมื่อดัชนีขยายตัวติดลบร้อยละ 0.5 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยดัชนีที่ไม่รวมเงินโบนัส (GB average earnings index: AEI) ในรอบไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปีที่แล้ว (เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า) ขณะที่ดัชนีที่รวมรายได้จากโบนัสเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากปีที่แล้ว (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า)

อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

Bank of England คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่เก้า และคงวงเงิน Quantitative easing จำนวน 200 พันล้านปอนด์

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติเอกฉันท์ 9:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ย Bank rate ไว้ตามเดิมที่ระดับร้อยละ 0.50 เป็นเดือนที่ 9 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดนับจากก่อตั้ง Bank of England ในปี 1694 พร้อมกับคงวงเงินรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน (Asset Purchased Facility) จำนวน 200 พันล้านปอนด์ตามมาตรการ Quantitative Easing ไว้ต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า APF มีส่วนช่วยให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินหดแคบลง ขณะที่พัฒนาการของอุปสงค์ภายในประเทศแม้จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างในไตรมาสที่ 3 แต่การส่งออกกลับไม่ดีอย่างที่คิดแม้เงินปอนด์จะอ่อนตัวลงในช่วงที่ผ่านมารวมถึงการฟื้นตัวของการค้าโลก ขณะเดียวกัน การขยายตัวของสินเชื่อก็ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อการกระตุ้นความต้องการภายในและการลดกำลังการผลิตส่วนเกินลง ดังนั้น จึงต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงชนิดเดือนต่อเดือนเนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและลบในขณะนี้ และแม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนจะเร่งตัวขึ้นแต่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงไม่เปลี่ยนแปลงว่าจะอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายร้อยละ 2 โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 7 มกราคม 2009

ในเดือนพฤศจิกายนค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยชนิดลอยตัว (flexible rate) เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.98 เพิ่มขึ้น 8 basis points จากเดือนที่แล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยชนิดที่อิงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน (bank rate tracker mortgage) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.89 เพิ่มขึ้น 3 basis points จากเดือนที่แล้ว ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มปรับกว้างขึ้นในเดือนนี้เป็น 348 และ 339 basis points ตามลำดับ

สำหรับโครงสร้างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (average yield curve) ในตลาดเงินประจำเดือนธันวาคมพบว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้วระหว่าง 1 — 4 basis points ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวอายุ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี ในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2, 13 และ 11 basis points ตามลำดับ นับเป็นเดือนที่ 3 ที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปีมีการปรับตัวสูงขึ้นหลังจากลดลงโดยตลอด 25 เดือนก่อนหน้านั้น

ปริมาณเงินและสินเชื่อ : M4 ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อสู่ภาคเศรษฐกิจยังคงหดตัวต่อไป

ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M4) ในเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อย 0.6 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้ยอดคงค้าง M4 ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 9.2 จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนที่แล้ว +10.8%) ขณะที่ปริมาณสินเชื่อตามความหมายกว้าง (M4 lending) ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9.3 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้ยอดคงค้างของ M4 lending เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเช่นกันเหลือร้อยละ 5.7 (เดือนที่แล้ว +5.9%)

แม้ว่าภาพรวมของ M4 lending จะยังคงขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.7 แต่หากวิเคราะห์ลงในรายละเอียดของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจ (sectoral analysis) พบว่ายังคงมีการหดตัวต่อเนื่องแต่ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง โดยสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ (M4 lending to private non-financial corporation) มียอดคงค้าง 483,793 ล้านปอนด์ ขยายตัวจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.5 แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วยังหดตัวอยู่ร้อยละ 2.4 ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 นับจากเริ่มมีการชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008 ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือน (M4 lending to household sector) มียอดคงค้าง 1,055,446 ล้านปอนด์ ขยายตัวจากเดือนที่แล้วร้อยละ 0.7 แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วยังคงหดตัวลงร้อยละ 0.8 ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 อย่างไรก็ดี ทิศทางการหดตัวของสินเชื่อเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับซึ่งหากปริมาณสินเชื่อระหว่างเดือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า

อัตราแลกเปลี่ยน : เงินปอนด์อ่อนค่าลงกับเงินทุกสกุล หลังจากกระเตื้องขึ้นเดือนที่แล้ว

เงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคมอ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากที่กระเตื้องขึ้นในเดือนที่แล้ว โดยเงินปอนด์ปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ 1.6627 $/ปอนด์ จากนั้นก็อ่อนค่าลงโดยตลอดแม้จะมีการเคลื่อนไหวสลับขึ้นลงในกรอบ 1.62 — 1.64 $/ปอนด์ ในช่วงกลางเดือน แต่เงินปอนด์ก็ไม่สามารถรักษาระดับไว้โดยหลังจากกระเตื้องขึ้นไปแตะระดับ 1.64 $/ปอนด์ ก็เริ่มอ่อนค่าลงแรงอีกครั้งจนลงมามีปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 1.5932 ปอนด์ ในช่วงท้ายของเดือน แต่ก็สามารถปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 1.6011 $/ปอนด์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 1.6243 $/ปอนด์ อ่อนค่าลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 2.1 แต่เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้วเงินปอนด์ยังแข็งค่าอยู่ร้อยละ 9.3 สาเหตุมาจากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ดีขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้ตลาดเริ่มประเมินว่าโอกาสที่ Fed จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ามีมากขึ้นหลังจากตัวเลขผู้ว่างงานประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้ค่อนข้างมาก ขณะที่แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษจะเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นโดยลำดับก็ตาม แต่ปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่ยังคงสูงอยู่ก็มีส่วนต่อการกดดันค่าเงินปอนด์

เงินปอนด์เมื่อเทียบกับยูโรในเดือนนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว โดยเงินปอนด์ปิดตลาดวันแรกที่ระดับ 1.1016 ยูโร/ปอนด์ จากนั้นก็แข็งค่าขึ้นจนขึ้นไปสูงสุดของเดือนที่ระดับ 1.1267 ยูโร/ปอนด์ ในช่วงกลางเดือน ก่อนจะอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนจนลงมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 1.10 ยูโร/ปอนด์ อีกครั้ง แต่ก็สามารถกลับขึ้นไปปิดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับต่ำสุด 1.1195 ยูโร/ปอนด์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 1.1121 ยูโร/ปอนด์ เท่ากับเดือนที่แล้ว แต่ก็ยังแข็งค่าอยู่เล็กน้อยร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับเงินบาท เงินปอนด์อ่อนค่าลงเช่นกัน โดยหลังจากปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 55.1933 Baht/ปอนด์ และขึ้นไปแข็งค่าสุดของเดือนในวันที่ 2 ที่ระดับ 55.2213 Baht/ปอนด์ เงินปอนด์ก็กลับอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของเดือนโดยลงมาปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 53.0078 Baht/ปอนด์ ก่อนที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยมาปิดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 53.4207 Baht/ปอนด์ ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินปอนด์ในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 53.9395 Baht/ปอนด์ อ่อนค่าลงร้อยละ 2.3 จากเดือนที่แล้ว แต่ยังคงแข็งค่าอยู่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เดือนพฤศจิกายนรัฐบาลขาดดุล 20.3 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 32% ส่งผลให้ Debt/GDP พุ่งเป็นแตะระดับ 60.2%

ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนที่ 8 ของปีงบประมาณปัจจุบัน (2009/10) รัฐบาลมีดุลงบรายจ่ายประจำ (current budget) ขาดดุลจำนวน 16.2 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 จากปีที่แล้ว) และเมื่อรวมกับในเดือนนี้รัฐบาลมียอดลงทุนสุทธิจำนวน 4.1 พันล้านปอนด์ จึงทำให้ฐานะดุลงบประมาณโดยรวมในเดือนนี้มียอดขาดดุลสุทธิ 20.3 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 31.5) โดยในส่วนของรัฐบาลกลาง (central government account) สามารถจัดเก็บรายได้ในเดือนนี้จำนวน 33.8 พันล้านปอนด์ (ลดลงร้อยละ 3.0 จากปีที่แล้ว) ขณะที่งบรายจ่ายประจำและงบลงทุนของรัฐบาลกลางมียอดรวม 53.8 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จากปีที่แล้ว) ทำให้รัฐบาลกลางมีฐานะขาดดุล 20.6 พันล้านปอนด์ (ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 37.5) ผลของการจัดเก็บรายได้ลดลง ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจึงทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 844.5 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 60.2 ของ GDP (เทียบกับร้อยละ 49.6 เมื่อปีที่แล้ว) ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 142 พันล้านปอนด์ หรือร้อยละ 17.1 ของยอดหนี้สาธารณะเป็นหนี้ที่เกิดจากการเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของภาคการเงินนับจากกรณีธนาคาร Northern Rock จนถึงหนี้ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายรับซื้อตราสารหนี้จากภาคเอกชน (Asset Purchase Facility Fund) ของ Bank of England

สำหรับยอดสะสม 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลมีรายรับ 294.8 พันล้านปอนด์ (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.1) ขณะที่รายจ่ายประจำมีจำนวน 379.1 พันล้านปอนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0) และเมื่อรวมกับงบลงทุนและงบของรัฐบาลท้องถิ่นแล้ว ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณขาดดุลสะสม 106.4 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 115.8 หรือเท่ากับร้อยละ 65.2 ของประมาณการขาดดุลทั้งปี

ทั้งนี้ ในการแถลง Pre-Budget Report 2009/10 เมื่อต้นเดือนธันวาคม กระทวงการคลังประมาณการว่าในปีงบประมาณปัจจุบัน รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้จำนวน 498 พันล้านปอนด์ แต่มีรายจ่ายประจำและลงทุนรวมจำนวน 676 พันล้านปอนด์ โดยจะขาดดุลจำนวน 178 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 12.6 ของ GDP และจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสุทธิเพิ่มเป็น 799 พันล้านปอนด์ หรือเท่ากับร้อยละ 55.6 ของ GDP

ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน

ดุลการค้าและบริการ: ตุลาคมขาดดุล 3.2 พันล้านปอนด์ เพิ่มร้อยละ 83

เดือนตุลาคม อังกฤษมียอดส่งออกสินค้าและบริการรวม 33.3 พันล้านปอนด์ (-7.8% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้ารวม 36.5 พันล้านปอนด์ (-3.6% จากปีที่แล้ว) ทำให้มียอดขายดุลการค้าและบริการรวม 3.2 พันล้านปอนด์ (+82.7% จากปีที่แล้ว) แยกเป็นขาดดุลการค้าจำนวน 7.1 พันล้านปอนด์ (-4.2% จากปีที่แล้ว) แต่มีการเกินดุลบริการจำนวน 3.9 พันล้านปอนด์ (-31.2% จากปีที่แล้ว) โดยการขาดดุลในเดือนนี้แยกเป็นการขาดดุลการค้าสินค้ากับประเทศในกลุ่ม EU (27 ประเทศ)จำนวน 3.6 พันล้านปอนด์ (+13.0%) ขณะที่มีการขาดดุลกับประเทศนอกลุ่ม EU จำนวน 3.5 พันล้านปอนด์ (-17.0%)

ทั้งนี้ ยอดสะสม 10เดือนแรกของปีนี้ อังกฤษมียอดส่งออกรวมทั้งสิ้น 321.1 พันล้านปอนด์ -90%)มีการนำเข้ารวม 39พันล้านปอนด์ -99%) ทำให้มีการขาดดุลการค้าและบริการรวมทั้งสิ้น 268พันล้านปอนด์ -199%)

สำหรับการค้ากับประเทศไทยในเดือนตุลาคม อังกฤษส่งออกสินค้าไปประเทศไทยจำนวน 114 ล้านปอนด์ (+56.2% จากปีที่แล้ว) ขณะที่มีการนำเข้าจำนวน 193 ล้านปอนด์ (-11.9%) ทำให้ขาดดุลการค้ากับประเทศไทยจำนวน 79 ล้านปอนด์ (-45.9%) ส่งผลให้ยอดสะสมการค้าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อังกฤษมีการส่งออกสินค้าไปประเทศไทยรวม 707 ล้านปอนด์ (+11.2% จากปีที่แล้ว) แต่มีการนำเข้าจากประเทศไทยรวม 1,909 ล้านปอนด์ (-4.3%) ทำให้มียอดขาดดุลการค้ากับประเทศไทยทั้งสิ้น 1,202 ล้านปอนด์ (-11.5%)

ประเด็นข่าวสำคัญ ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอรายงานงบประมาณงวดครึ่งปี (Pre-Budget Report) ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัวร้อยละ 4.75 และจะฟื้นตัวในระดับร้อยละ 1.25 ในปีหน้า ขณะที่การขาดดุลงบประมาณปัจจุบันจะสูงถึงร้อยละ 12.6 ของ GDP และร้อยละ 12.0 ในปีงบประมาณหน้า พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินโบนัสของผู้ที่ทำงานในสถาบันการเงินสำหรับส่วนที่เกิน 25,000 ปอนด์ในอัตราร้อยละ 50 ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดันและเพื่อช่วยจูงใจให้สถาบันการเงินนำผลกำไรไปเสริมฐานะเงินกองทุน รวมถึงมีการยืนยันการสิ้นสุดมาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 15 เป็นการชั่วคราวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอัตรา VAT จะกลับสู่ระดับเดิมร้อยละ 17.5 นับจากวันที่ 1 มกราคม 2010 นอกจากนี้ ยังได้เสนอกฎหมายที่เรียกว่า “Fiscal Responsibility Bill” เพื่อแปลงแผนการปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าลดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ที่สูงที่สุดในปีงบประมาณปัจจุบันให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายในปีงบประมาณ 2013/14 (9 ธันวาคม 2009)

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ