ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2010 14:59 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำเดือนธันวาคม 2009 พบว่าเสถียรภาพภายใน (internal stability) ยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องหลังจาก GDP ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่เป็นบวกหลังจากมีการหดตัวติดต่อกัน 5 ไตรมาสก่อนหน้าทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปน่าจะพ้นจากภาวะถดถอยแล้ว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคมหดตัวร้อยละ 0.6 เป็นครั้งแรกหลังจากเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 5 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจประจำเดือนพฤศจิกายนก็ยังคงปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 แม้ดัชนีทั้งสองจะอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวก็ตาม รวมถึงการที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นครั้งแรกหลังจากติดลบติดต่อกัน 5 เดือนก่อนหน้า การว่างงานเดือนตุลาคมมีจำนวน ทั้งสิ้น 15.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง โดยอัตราการว่างงานทรงตัวในระดับร้อยละ 9.7 เท่ากับเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สำหรับภาคการเงินในเดือนธันวาคม ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate) ไว้ที่ระดับร้อยละ 1.0 เป็นเดือนที่ 8 ช่วยเอื้อต่อการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยโดยรวมให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปโดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นเริ่มทรงตัวนิ่งในระดับต่ำซึ่งสะท้อนว่าสภาพคล่องในระบบการเงินยังคงมีอยู่สูง กระนั้นก็ดี ผลของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงยังไม่สามารถเร่งสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้เมื่อปริมาณเงินและสินเชื่อในเดือนพฤศจิกายนต่างก็หดตัวลงเป็นครั้งแรกนับจากมีการจัดเก็บสถิติสะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับเสถียรภาพภายนอก (external stability) ยังคงดีอยู่เมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดของ Euro area ในเดือนตุลาคมขาดดุลลดลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 8.0 โดยยอดสะสมในช่วง 12 เดือนก็ลดลงจากปีก่อนหน้าเช่นกัน ขณะที่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีฐานะไหลเข้าสุทธิ 14.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 38.5 ในส่วนของค่าเงินยูโรในเดือนธันวาคมอ่อนค่าลงกับเงินทุกสกุล ยกเว้นแข็งค่ากับปอนด์สเตอริงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยยูโรอ่อนค่ากับเงินดอลลาร์ สรอ. ร้อยละ 2.0 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน และอ่อนค่ากับเยนญี่ปุ่นร้อยละ 1.3 และอ่อนค่ากับเงินบาทร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนเช่นเดียวกับดอลลาร์ สรอ.

ภาพรวมเศรษฐกิจ (ธันวาคม 2552)

GDP Q3 ขยายตัว +0.4% แต่หดตัว -4.1% เมื่อเทียบกับ Q3 ปีที่แล้ว

การประมาณการเบื้องต้น (First estimates) ของผลผลิตมวลรวมภายในของสหภาพยุโรป 16 ประเทศ (Euro area GDP) ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2009 พบว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่ 2 (q-on-q) (เป็นครั้งแรที่ขยายตัวหลังจากติดลบติดต่อกัน 5 ไตรมาสก่อนหน้า) ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (y-on-y) GDP ขยายตัวติดลบร้อยละ 4.1 (ติดลบเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน แต่อัตราการติดลบชะลอลงจาก 2 ไตรมาสก่อนหน้า)

การขยายตัวของเศรษฐกิจทางด้านรายจ่าย (Expenditure side) มีการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาค ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชน ดังนี้

  • การบริโภคภาคเอกชน (Household consumption) หดตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, +0.0%) แต่หดตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, -0.9%) (มีสัดส่วนร้อยละ 57.6 ของ GDP)
  • การใช้จ่ายภาครัฐ (Government consumption) ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, +0.6%) และขยายตัวร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, +2.4%) (มีสัดส่วนร้อยละ 22.0 ของ GDP)
  • การลงทุน (Gross fixed capital formation) หดตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่แล้ว (Q2, -1.7%) และหดตัวลงถึงร้อยละ 10.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, -11.3%) (มีสัดส่วน ร้อยละ 20.0 ของ GDP)
  • การส่งออก (Exports) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, -1.3%) แต่ติดลบร้อยละ 13.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, -17.4%) (มีสัดส่วนร้อยละ 42.6 ของ GDP) ขณะที่การนำเข้าก็ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, -2.9%) แต่หดตัวร้อยละ 12.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, -14.4%) (มีสัดส่วนร้อยละ 35.3 ของ GDP)

การขยายตัวของเศรษฐกิจทางด้านอุปทานหรือการผลิต (Gross value added) มีการปรับตัวดีขึ้นในบางภาคการผลิต แต่ภาคก่อสร้างและบริการทางการเงินยังคงแย่ลง ดังนี้

  • ภาคการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, +0.2%) และขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, +0.5%) (มีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของ GDP)
  • ภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงาน ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นไตรมาสแรกในหกไตรมาสที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวเป็นบวก (Q2, -1.5%) อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วยังคงติดลบอยู่ร้อยละ 13.6 (Q2, -17.0%) (มีสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของ GDP)
  • ภาคการก่อสร้าง ขยายตัวติดลบร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นไตรมาสที่หกติดต่อกันที่ขยายตัวติดลบ (Q2, -0.6%) และติดลบร้อยละ 4.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, -4.7%) (มีสัดส่วนร้อยละ 5.9 ของ GDP)
  • ภาคการค้า การบริการ ขนส่งและสื่อสาร ในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่สามารถขยายตัวเป็นบวก (Q2, -0.2%) อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วยังคงหดตัวอยู่ร้อยละ 4.6 (Q2, -5.2%) (มีสัดส่วนร้อยละ 18.7 ของ GDP)
  • ภาคบริการทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าสินทรัพย์ กลับหดตัวร้อยละ 0.1 หลังจากที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่แล้ว (Q2, +0.1%) หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วยังติดลบอยู่ร้อยละ 1.4 (Q2, -1.3%) (มีสัดส่วนร้อยละ 26.4 ของ GDP)
  • ภาคการบริการสาธารณะ การศึกษา สุขภาพ และบริการอื่น ในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q2, +0.6%) และขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (Q2, +1.5%) (มีสัดส่วนร้อยละ 21.8 ของ GDP)

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ทั้งเยอรมันและฝรั่งเศส สามารถเติบโตต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่ประเทศอิตาลีเริ่มขยายตัวเป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศสเปนยังคงหดตัวต่อเนื่อง อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม IMF ประมาณการว่าในปี 2009 เศรษฐกิจของ Euro area 16 ประเทศ จะขยายตัวติดลบร้อยละ 4.2 และจะฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2010 โดยเยอรมัน อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส จะติดลบร้อยละ 5.3 5.1 3.8 และ 2.4 ตามลำดับ ดีขึ้นกว่าการประมาณการเมื่อเดือนกรกฎาคม

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม : เดือนตุลาคมหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งเป็นเดือนที่ 8

ดัชนีชี้วัดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index: IPI) ที่ปรับตามฤดูกาลแล้วประจำเดือนตุลาคมของกลุ่ม EU16 อยู่ที่ระดับ 90.9 ลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีหดตัวลงหลังจากฟื้นตัวขึ้นโดยตลอดช่วง 5 เดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วดัชนีติดลบอยู่ร้อยละ 11.0 โดยดัชนีการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วมาจากหมวดสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 โดยหมวดสินค้าทุนไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว สำหรับหมวดการผลิตที่หดตัวลงจากเดือนที่แล้วมาจากหมวดสินค้าบริโภคชนิดไม่คงทน หมวดสินค้าบริโภคชนิดคงทน และหมวดพลังงานที่หดตัวลงร้อยละ 1.6, 1.4 และ 0.3 ตามลำดับ ซึ่งการที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงในเดือนนี้หลังจากฟื้นตัวตลอดช่วง 5 เดือนก่อนหน้า อาจจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ของปีอาจได้รับผลกระทบบ้าง แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 0.4 จะช่วยยืนยันถึงการที่เศรษฐกิจของ Euro area ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วก็ตาม

ขณะที่ดัชนีชี้วัดทางด้านอุปสงค์ของกลุ่ม EU16 ในเดือนพฤศจิกายนฟื้นตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยดัชนีผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Economic Sentiment Index: ESI) ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.9 เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.9 จุดจากเดือนที่แล้ว โดยดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นในเกือบทุกภาคไม่ว่าจะเป็น retail trade, services, construction และ industry ยกเว้นภาค consumer ที่ทรงตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือนร้อยละ 0.5

ดัชนีราคาผู้บริโภค (Harmonised Index of Consumer Prices: HICP) ของพื้นที่ยุโรป (Euro Area: 16 ประเทศ) ประจำเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 (เดือนที่แล้ว -0.1%) นับเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อเป็นบวกหลังจากที่ติดลบติดต่อกัน 5 เดือนก่อนหน้า โดยหมวดราคาสินค้าที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วมาจากหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบที่ระดับราคายังคงสูงขึ้น (+4.5%) หมวดสินค้าและบริการอื่นๆ (+2.2%) หมวดคมนาคมขนส่ง (+1.4%) หมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน (+1.2%) และหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (+1.2%) ขณะที่หมวดรายจ่ายที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเงินเฟ้อมาจากหมวดอาหาร (-1.2%) หมวดรายจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย (-1.0%) และหมวดสื่อสารโทรคมนาคม (-0.7%) สำหรับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุด 4 อันดับแรกในเดือนนี้ ได้แก่ Greece, Slovenia, Luxemburg และ Finland ที่มีอัตราเงินเฟ้อ +2.1%, +1.8%, +1.7% และ +1.3% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ได้แก่ Ireland, Portugal, Malta และ Belgium ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว -2.8%, -0.8%, -0.1% และ 0.0 ตามลำดับ

ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศสหภาพยุโรทั้งหมด 27 ประเทศ (EU 27) เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนนี้เป็นร้อยละ 1.0 (เดือนที่แล้ว +0.5%) โดยประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่ม EU27 ยังคงเป็นประเทศ Hungary, Romania และ Poland ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ +5.2%, +4.6% และ +3.8% ตามลำดับ

อัตราการว่างงาน : เดือนตุลาคมทรงตัวที่ร้อยละ 9.7 ยังคงสูงสุดในรอบ 10 ปี

ในเดือนตุลาคม Euro area 16 ประเทศ มียอดผู้ว่างงานที่ปรับตามฤดูกาลแล้วรวมกันทั้งสิ้น 15.567 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 134,000 คนจากเดือนที่แล้ว) และเพิ่มขึ้น 3.149 ล้านคนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนนี้ทรงตัวที่ระดับร้อยละ 9.7 เท่ากับเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 1999 โดยประเทศสมาชิก Euro area ที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด ได้แก่ Latvia และ Spain ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 20.9 และ 19.3 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุด ได้แก่ the Netherlands, Austria และ Cyprus ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.7, 4.7 และ 6.0 ตามลำดับ

ขณะที่ยอดผู้ว่างงานของ EU 27 ประเทศ ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5.0 ล้านคน โดยคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 9.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.2 ในเดือนที่แล้ว

อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

ECB คงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.0 เป็นเดือนที่ 8 ขณะที่ปริมาณเงินและสินเชื่อชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม คณะกรรมการธนาคารกลางสหภาพยุโรป มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Refinancing Operations (MRO) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ไว้ตามเดิมที่ระดับร้อยละ 1.0 นับเป็นเดือนที่ 8 ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับดังกล่าว โดย ECB ได้ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับสถานการณ์เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ทยอยออกมาหลังจากการประชุมครั้งก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนตัว ขณะเดียวกันแม้ข้อมูลล่าสุดจะชี้ว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวเป็นบวก แต่ปัจจัยบางประการที่เกื้อหนุนการขยายตัวของ GDP มีลักษณะของการฟื้นตัวเพียงชั่วคราว ซึ่งคณะกรรมการเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ สูงอยู่ ขณะที่สภาวการณ์ด้านการเงินไม่ส่งผลกดดันต่อเงินเฟ้อเมื่ออัตราการเพิ่มของปริมาณเงินและสินเชื่อยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางถึงยาวจะอยู่ภายในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2.0 และส่งผลดีต่อการรักษากำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2553

ในเดือนพฤศจิกายน สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของ Euro Area เข้าสู่ระดับหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากเริ่มมีการจัดเก็บสถิติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สภาพคล่องเริ่มหดตัวลงนับเดือนธันวาคม 2007 เป็นต้นมา โดยยอดคงค้างของปริมาณเงินตามความหมายกว้าง หรือ M3 อยู่ที่ระดับ 9.34 ล้านล้านยูโร ลดลง 59 พันล้านยูโรจากเดือนที่แล้ว ทำให้ยอดคงค้าง M3 ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.2 จากปีที่แล้ว (เดือนที่แล้ว +0.3%) ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่สถาบันการเงิน (MFI) ให้กู้กับภาคเอกชน (loan to private sector) มียอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 10.75 ล้านล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 17 พันล้านยูโร ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อในเดือนนี้มีหดตัวลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.7 (-0.8% เดือนที่แล้ว) ถือเป็นเดือนที่ 3 ที่ยอดคงค้างสินเชื่อขยายตัวติดลบ โดยในปี 1983 เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการติดลบ สภาวะดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Money market interest rates) ในเดือนธันวาคมยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 2 โดยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีเปลี่ยนแปลงขึ้นลงจากเดือนที่แล้วระหว่าง 0 — 4 basis points ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวอายุ 5 ปีและ 10 ปีในเดือนนี้เพิ่มขึ้น 1 และ 4 basis points ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วโครงสร้างอัตราผลตอบแทนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีพบว่าอัตราผลตอบแทนในเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วระหว่าง 213 — 258 basis points และลดลงระหว่าง 352 — 423 basis points เมื่อเทียบกับปี 2007 ซึ่งเป็นผลจากการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว 5 ปีและ 10 ปีค่อนข้างใกล้เคียงกับปีที่แล้วโดยลดลงระหว่าง64 และ 1 basis points ตามลำดับ

อัตราแลกเปลี่ยน : ยูโรอ่อนค่ากับทุกสกุล ยกเว้นปอนด์

ค่าเฉลี่ยเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคมอ่อนค่าลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยเงินยูโรปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 1.5074 $/ยูโร และขึ้นไปสูงสุดของเดือนที่ระดับ 1.512 $/ยูโร ในวันถัดมาซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปลายเดือนที่แล้ว หลังจากนั้นเงินยูโรก็เริ่มเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่ช่วงของการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดช่วง 3 สัปดาห์ถัดมาจนหลุดระดับ 1.50 $/ยูโร โดยลดลงมาปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 1.4276 $/ยูโร เนื่องจากดอลลาร์ สรอ. ได้รับผลดีจากการที่ตลาดประเมินโอกาสที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีมากขึ้นเมื่อข้อมูลตัวเลขการว่างงานประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก รวมถึงตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปเดือนตุลาคมกลับหดตัวลงผิดความคาดหมายหลังจากขยายตัวมาโดยตลอด 5 เดือนก่อนหน้าทำให้เกิดคำถามถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 และโอกาสที่ ECB จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลังของประเทศกรีซจนถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี เงินยูโรเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในช่วงท้ายเดือนและปิดตลาดวันสุดท้ายของปี 2009 ที่ระดับ 1.4406 $/ยูโร โดยค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนร้อยละ 2.0 แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในเดือนเดียวกันของปีที่แล้วเงินยูโรแข็งค่าอยู่ร้อยละ 8.7

เงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ในเดือนนี้แม้จะเคลื่อนไหวผันผวนแต่ก็ถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพโดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยเงินยูโรปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ระดับ 0.90985 ปอนด์/ยูโร จากนั้นก็อ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ 0.90 — 0.91 ปอนด์/ยูโร ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ก่อนจะอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 จนลงมาต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 0.887 ปอนด์/ยูโร อย่างไรก็ดี เงินยูโรกลับแข็งค่าขึ้นอีกครั้งนับจากสัปดาห์ที่ 3 จนถึงช่วงท้ายเดือนโดยสามารถกลับขึ้นมาสู่ระดับ 0.90 ปอนด์/ยูโร ได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถรักษาระดับดังกล่าวได้โดยอ่อนค่าลงมาปิดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 0.8881 ปอนด์/ยูโร โดยค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้แข้งค่าเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 จากเดือนที่แล้ว แต่อ่อนค่ากับเงินปอนด์อยู่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว

เมื่อเทียบกับเงินเยนแล้วค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าลงเป็นเดือนที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยเงินยูโรมีระดับปิดวันแรกของเดือนที่ระดับ 131.02 เยน/ยูโร จากนั้นก็แข็งค่าขึ้นในสัปดาห์แรกโดยขึ้นไปปิดสูงสุดของเดือนที่ระดับ 133.24 เยน/ยูโร หลังจากนั้นเงินยูโรก็กลับอ่อนตัวลงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนจนลงมาปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 129.27 เยน/ยูโร จากนั้นเงินยูโรก็กลับกระเตื้องขึ้นอีกครั้งนับจากช่วงกลางเดือนจนกระทั่งปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับ 133.16 เยน/ยูโร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าลงอีกร้อยละ 1.3 แต่หากเปรียบเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว เงินยูโรยังแข็งค่าอยู่ร้อยละ 7.1

ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่อ่อนค่ากับเงินบาท โดยเงินยูโรมีระดับปิดตลาดวันแรกของเดือนที่ 50.035 ฿/ยูโร จากนั้นก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจนลงมามีระดับปิดต่ำสุดของเดือนที่ระดับ 47.492 ฿/ยูโร ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นบ้างในช่วงท้ายเดือนและปิดตลาดวันสุดท้ายของเดือนที่ระดับที่ระดับ 47.986 ฿/ยูโร จึงทำให้ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรในเดือนนี้อ่อนค่าลงร้อยละ 2.0 แต่แข็งค่าอยู่ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมา

ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน

เดือนตุลาคม: Euro Area ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4.6 พันล้านยูโร ขณะที่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีฐานะเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 14.4 พันล้านยูโร

ณ สิ้นเดือนตุลาคม Euro area มีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตามฤดูกาลแล้ว (seasonally adjusted current account balance) ขาดดุลจำนวน 4.6 พันล้านยูโร (-8.0% จากเดือนที่แล้ว) โดยในเดือนนี้ Euro area มีการเกินดุลการค้า (goods trade) และดุลบริการ (services) จำนวน 8.3 และ 2.6 พันล้านยูโร ตามลำดับ แต่มีการขาดดุลรายได้ (income) และดุลเงินโอน (current transfer) จำนวน 2.2 และ 13.4 พันล้านยูโร ตามลำดับ จึงทำให้โดยรวมแล้ว Euro area มีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลดังกล่าว นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Euro area เพิ่งเริ่มกลับมามีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 เดือนติดต่อกัน

ทั้งนี้ ยอดสะสม 12 เดือนที่ผ่านมา Euro area มีฐานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมรวม 86.5 พันล้านยูโร หรือเท่ากับร้อยละ 1.0 ของ Euro GDP ลดลงจากยอดสะสม 12 เดือนก่อนหน้าที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 118.0 พันล้านยูโร (-26.7% จากปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา Euro area กลับมามีฐานะเกินดุลการค้าสะสม แม้จะเกินดุลบริการลดลงก็ตาม รวมถึงการขาดดุลรายได้และดุลเงินโอนสะสมก็ลดลงจาก 12 เดือนก่อนหน้าเช่นกัน

ทางด้านดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (financial account) ที่ยังไม่ปรับตามฤดูกาล (non-seasonal adjusted) ประจำเดือนตุลาคม พบว่า Euro area มีฐานะบัญชีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 14.4 พันล้านยูโร (+38.5% จากเดือนที่แล้ว) เนื่องจากแม้เงินลงทุนในหลักทรัพย์ (portfolio investment) ไหลเข้าสุทธิจะลดลงเหลือ 19.2 พันล้ายูโร (-64.1% จากเดือนที่แล้ว) แต่เงินลงทุนทางตรง (direct investment) ไหลออกสุทธิก็ลดลงด้วยเช่นกันเหลือ 1.5 พันล้านยูโร (-94.3% จากเดือนที่แล้ว)

ขณะที่ยอดสะสมในรอบ 12 เดือน Euro area มีฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิถึง 104.3 พันล้านยูโร (-32.3% จากปีที่แล้ว) เนื่องจากแม้การไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (net portfolio investments) สะสมจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสู่ระดับ 395.4 พันล้านยูโร แต่เนื่องจากสถาบันการเงินของ Euro area มีการกลับสถานะจากการเป็นผู้กู้ยืมสุทธิในปีที่แล้วมาเป็นผู้ให้กู้ยืมสุทธิในปีนี้ถึง 167.7 พันล้านยูโร จึงทำให้ฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิลดลงจากปีที่แล้วดังกล่าว

ประเด็นข่าวสำคัญ ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรางการคลังของสหภาพยุโรป (ECOFIN Council) สามารถได้ข้อยุติขั้นสุดท้ายในการปรับโครงสร้างองค์กรกำกับระบบการเงินด้วยการเห็นชอบให้จัดตั้งองค์กรกำกับการเงินขึ้นใหม่ 3 องค์กร ประกอบด้วย 1) European Banking Authority 2) the European Insurance and Occupational Pensions Authority และ 3) the European Securities and Markets Authority เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบระบบการเงินครอบคลุมในระดับสหภาพยุโรป (pan-European) หลังจากที่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้จัดตั้ง European Systemic Risk Board (ESRB) เพื่อรับผิดชอบกำกับดูแลความเสี่ยงต่อระบบการเงินในภาพรวม (macro prudential supervision) ขณะที่ 3 องค์กรที่ตั้งใหม่จะรับผิดชอบกำกับดูแลในระดับสถาบันการเงิน (micro prudential regulation) โดยข้อมูลการวิเคราะห์ของ ESRB จะถูกนำไปใช้ประกอบการกำกับในระดับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและลดความเสี่ยงจากวิกฤตการเงิน (3 ธันวาคม 2009)
  • Standard & Poor’s ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวของประเทศกรีซจาก A- เป็น BBB+ หลังจากที่สัปดาห์ก่อนหน้า Fitch ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซหนึ่งระดับจาก A- เป็น BBB+ เนื่องจากปัญหาด้านฐานะการคลังที่คาดว่าจะขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 13 ของ GDP ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะจะพุ่งเกินร้อยละ 110 ของ GDP โดยที่รัฐบาลกรีซไม่สามารถเสนอมาตรการเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลงได้อย่างมีนัยสำคัญและเป็นรูปธรรมที่เพียงพอ การถูกปรับลดดังกล่าวทำให้กรีซเป็นประเทศเดียวที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิกที่ใช้เงินสกุลยูโร 16 ประเทศ (16 ธันวาคม 2009)
  • นาง Christine Lagarde รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสประกาศจะเรียกเก็บภาษีเงินได้จากเงินโบนัสของสถาบันการเงินเช่นเดียวกับที่อังกฤษประกาศดำเนินการไปแล้ว โดยจะนำเงินภาษีที่ได้ไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงการคุ้มครองเงินฝาก โดยให้เหตุผลว่าภาษีดังกล่าวเป็นภาษีที่ไม่ปกติในสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติ (16 ธันวาคม 2009)

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ