รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2010 10:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ม.ค. 2553

Summary:

1. สศก. ชี้ราคาสินค้าเกษตรในปี 53 ขยายตัวในระดับสูง

2. CEOs Index ชี้ 3 ปัญหาหลัก การเมือง-ฝีมือรัฐบาล-ศก.โลก

3. อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเริ่มส่อเค้าน่าเป็นห่วงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Highlight:
1. สศก. ชี้ราคาสินค้าเกษตรในปี 53 ขยายตัวในระดับสูง
  • เลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในปี 53 ราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 52 เนื่องจากทั่วโลกประสบกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาพืชอาหาร และราคาพืชน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
  • สำหรับประเทศไทยทาง สศก.คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปี และข้าวนาปรังจะหดตัวลงที่ร้อยละ -0.2 และ -2.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามเนื้อที่เพาะปลูกที่ลดลงบางพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคอีสาน เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกยางพารา ในขณะที่คาดว่าผลผลิตยางพาราจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 53 คาดว่าราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้จะขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 - 20.0 ต่อปี จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.7 ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันกลับมาขยายตัวในระดับสูงอีกครั้งหลังจากปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงปลายปี 50- ต้นปี 51 ที่ผ่านมา ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว นอกจากจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้นด้วย และจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคของประชาชนในระบบฐานรากในปี 53 ต่อไป
2. CEOs Index ชี้ 3 ปัญหาหลัก การเมือง-ฝีมือรัฐบาล-ศก.โลก
  • กรุงเทพธุรกิจ CEOs Index ได้สะท้อนถึงมุมมองของซีอีโอต่อเศรษฐกิจในปี 2553 และพบว่ามี 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล และสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับโลก ขณะที่ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือ การเมืองในประเทศ ต้นทุนวัตถุดิบ และสภาวะเศรษฐกิจของโลก นอกจากนี้ ยังทีต้นทุนค่าแรง การขาดแคลนบุคลากร และการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 60.5 ซึ่งลดลงจาก 69.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงขับเคลื่อนหลัก คือ ภาคการส่งออกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ซึ่ง สศค. คาดว่า เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 14 ประเทศ จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 2.5 — 3.5 ต่อปี) และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐตามแผนไทยเข้มแข็ง ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในปี 53 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนธ.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี สะท้อนถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในปี 53
3. อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเริ่มส่อเค้าน่าเป็นห่วงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  • กรมแรงงานสหรัฐฯ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) แม้ว่าจะมีการปรับลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลแล้วก็ตาม และเมื่อพิจาณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า อัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในเดือน ธ.ค. 52 ประกอบกับอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 10.0 ของกำลังแรงงาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเมื่อพิจาณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมือเทียบกับเดือนก่อนหน้าหรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในช่วงควบคุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 1.5 ถึงร้อยละ 2.0 แต่ทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจและการจ้างงาน จากเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ