รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ม.ค. 2553

Summary:

1. ธปท. คาดสินเชื่อธ.พาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ในปี 53

2. รัฐสั่งติวเข้มเอสเอ็มอี 3 ล้านราย ขยายการค้าและการลงทุนสานรับประโยชน์จาก AEC

3. เศรษฐกิจเยอรมนีปี 52 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี

Highlight:
1. ธปท. คาดสินเชื่อธ.พาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ในปี 53
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ตั้งเป้าขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 53 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 9.8 จากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.78 ตามสัญญาณเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะตั้งเป้าลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 53 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 5.0 จากปี 52 NPL ทั้งระบบ อยู่ที่ร้อยละ 5.54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 52 พบว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นมากจากในช่วงต้นปี 52 ทั้งทางการใช้จ่าย โดยเฉพาะ ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงในไตรมาสที่ 4 ปี 52 ขยายตัว 2.6 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจด้านการผลิตที่ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น ตามการส่งออกที่กลับมาขยายตัวในระดับสูง รวมถึงเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว จะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป (จากข้อมูลล่าสุดสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน พ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือนและสินเชื่อภาคธุรกิจ)
2. รัฐสั่งติวเข้มเอสเอ็มอี 3 ล้านราย ขยายการค้าและการลงทุนสานรับประโยชน์จาก AEC
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผย เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีของไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ในปี 2558 โดย สสว.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ศึกษาข้อมูลการตลาดเชิงลึกใน 4 ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยเร่งศึกษาข้อมูลการตลาด ทั้งสินค้าที่ต้องการรูปแบบ รสนิยม คุณภาพ ราคา และอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 99.7% ของจำนวนผู้ประกอบการ ที่ยังมีปัญหาในการมีข้อจำกัดในการรับรู้ข้อมูล จากการไม่เข้าใจข้อมูลการตลาดหรือมีปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการค้า การลงทุนกับอาเซียนมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประโยชน์ที่เอสเอ็มอีรายย่อยจะได้รับ จากการที่ขนาดของตลาดประชาคมอาเซียนที่ใหญ่ขึ้นจากประชากรทั้งหมดของ AEC จำนวนประมาณ 580 ล้านคน และส่งผลทำให้ปริมาณการค้า และการลงทุนระหว่างกันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียขยายตัวได้มากขึ้น และจะเอื้อต่อการผลิต การส่งออกของไทย
3. เศรษฐกิจเยอรมนีปี 52 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี
  • สนง.สถิติกลางของเยอรมนี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 52 ของเยอรมนีหดตัวลงร้อยละ -5.0 ต่อปี เป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากมูลค่าการส่งออกและการลงทุนทางธุรกิจที่ลดลง ขณะที่ธนาคารกลางของเยอรมนี คาดว่า เศรษฐกิจในปีนี้ 53 จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และ รมว.คลังของเยอรมนี คาดว่า ในปี 53 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเกินกว่าร้อยละ 5.0 ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะใช้เงินจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปี 53 ถึง 21,000 ล้านยูโร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีหดตัวลงในครั้งนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้อุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของเยอรมนีมีแผนที่จะใช้เงินงบประมาณปี 53 จำนวน 2.1 หมื่นล้านยูโร เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ถ้าเศรษฐกิจของเยอรมนีขยายตัวเป็นบวกในปี 53 จะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 52) และส่งผลต่อการขยายตัวส่งออกของไทยได้เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในกลุ่มสหภาพยุโรป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ