นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.03 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าเกือบ 25,000 ล้านบาท เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า 67,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8
ในเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 103,487 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.6 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและชัดเจน อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 8,101 ล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเข้าทองคำมูลค่าราว 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าทองคำเฉลี่ยประมาณเดือนละ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (กันยายน — พฤศจิกายน 2552) ในขณะที่ภาษีน้ำมันที่จัดเก็บสูงกว่าประมาณการถึง 4,130 ล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา
สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม — ธันวาคม 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 348,169 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 66,864 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 โดยทั้ง 3 กรมจัดเก็บหลัก ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 28,694 26,475 และ 6,149 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.8 13.0 และ 31.9 ตามลำดับ
นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวแล้ว ทำให้มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2553 นี้ จะสูงกว่าประมาณการอย่างแน่นอน และส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลมีความมั่นคง”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนธันวาคม 2552 และในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 103,487 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 24,841 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม — ธันวาคม 2552) จัดเก็บได้ 348,169 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 66,864 ล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 103,487 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 31.1) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นมากในเดือนธันวาคมส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นจากแนวโน้มปกติ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 41,378 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,101 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.3 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 15.4 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้า จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 37.6 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2552 จากมูลค่าเฉลี่ยประมาณเดือนละ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (กันยายน — พฤศจิกายน 2552)
- ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ 13,004 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,130 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 46.5 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบกับการสำรองน้ำมัน สำเร็จรูปเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดปีใหม่
- ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 6,989 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,450 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 97.5 เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ในด้านผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และการจัดโครงการส่งเสริมการขายเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงก่อนหน้าที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ 14,992 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,692 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากฐานเงินเดือน ฐานดอกเบี้ย และการรับจ้างทำของ ที่ดีขึ้น
- ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 6,510 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,482 ล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 เป็นผลจากการผลิตสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลวันหยุดปีใหม่ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 289 ล้านบาท เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้งวดที่ 2 จำนวน 530 ล้านบาท จากที่ขอทยอยนำส่ง 6 งวด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 — เดือนมีนาคม 2553 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ก่อนกำหนดจำนวน 304 ล้านบาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 358 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การประปานครหลวงขอเลื่อนการนำส่งรายได้ไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แทน
2. ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม — ธันวาคม 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 348,169 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 66,864 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 25.7) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการ ถึง 61,318 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.8 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนแล้ว
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 230,136 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 26,475 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.3) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 18,515 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.0 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 100,846 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 28,694 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 76.1) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัว ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 11,245 8,154 และ 4,855 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.6 76.1 และ 42.1 ตามลำดับ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 25,414 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,149 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.1) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,660 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.3 โดยมีสาเหตุหลักจากการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 21,175 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 44 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 71.9) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 708 และ 575 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอทยอยนำส่งรายได้เป็น 6 งวด จากเดิมที่คาดว่าจะนำส่งทั้งจำนวนในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ บมจ.การบินไทย ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เนื่องจากมี ผลประกอบการขาดทุน
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 21,661 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,597 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.1) เนื่องจากในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท ในขณะที่ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการประมาณ 700 ล้านบาท
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 5/2553 14 มกราคม 53--