รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2010 12:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ม.ค. 2553

Summary:

1. หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้ทัดเทียมคู่แข่งในตลาดโลก

2. กรมส่งเสริมการส่งออกคาดตัวเลขส่งออกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 14 รับเศรษฐกิจโลกฟื้น

3. ผู้นำประเทศในแถบยุโรปให้การสนับสนุนมาตรการเพิ่มความเข้มงวด ธพ.ของโอบามา

Highlight:
1. หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้ทัดเทียมคู่แข่งในตลาดโลก
  • ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้จัดให้มีการลงนามระหว่างเอสเอ็มอีกับบริษัทเทรดดิ้งเฟิร์มเพื่อสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าให้เอสเอ็มอีจำนวน 12 ฉบับ เพื่อส่งสินค้า 300 รายการไปจำหน่ายใน 12 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้ 216 ล้านบาท ขณะที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมทั้งข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ในการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีมีความพร้อมในการแข่งขันกับต่างชาติได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีจะส่งผลให้มีการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลยังได้มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) โดยในปี 52 ธพว. อนุมัติสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีจำนวน 4,699 ราย คิดเป็นวงเงิน 3.37 หมืนล้านบาทโดยเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
2. กรมส่งเสริมการส่งออกคาดตัวเลขส่งออกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 14 รับเศรษฐกิจโลกฟื้น
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกเปิดเผยว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจ โลกปี 2553 ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นโดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.1 รวมถึงการที่สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานจากต่างชาติ จึงคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 14 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกของไทยจะยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับความผันผวนของราคาน้ำมัน ปัญหาค่าเงินบาท การขาดแคลนแรงงานและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2553 อาจจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 ถึง 16.5 ต่อปี) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มากขึ้น เช่น ปัญหาเงินเฟ้อในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนเริ่มเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงในอนาคต รวมถึงปัญหาระดับหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน เช่น กรีซ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี โดยทั้ง 2 ปัญหาอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก
3. ผู้นำประเทศในแถบยุโรปให้การสนับสนุนมาตรการเพิ่มความเข้มงวด ธพ.ของโอบามา
  • มาตรการการเพิ่มความเข้มงวดต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโอบามา เป็นประเด็นหลักในการประชุม World Economic Forum ณ กรุง Davos ประเทศ Switzerland โดยเหล่าผู้นำประเทศในแถบยุโรปให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวและมองว่าควรมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินในทุกประเทศทั่วโลก และควรมีการเพิ่มความร่วมมือในการดูแลเข้มงวดกับระบบสถาบันการเงินดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมองว่า หากไม่มีการร่วมมือกันที่ดีพอจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากการเก็งกำไร (Arbitrage) และต้นทุนจากความซับซ้อนของระบบหลากมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม นายธนาคารมองว่ามาตรการดังกล่าวนั้นอาจดำเนินการได้ยากในทางปฏิบัติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นของประธานาธิบดีโอบามาน่าจะส่งผลให้ระบบธนาคารมีความเสี่ยงที่ลดลงทั้งระบบ (Systemic risk) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในระยะยาวสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นจากความเสี่ยงในภาคการเงินที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการที่มีความเข้มงวดมากเกินความจำเป็น อาจส่งผลให้กลไกการทำกำไรจากความเสี่ยงในระบบสถาบันการเงินและตลาดได้รับผลกระทบ มาตรการดังกล่าวจึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมก่อนที่จะนำมาดำเนินการจริง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ