เรื่องหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems)
การประกันเงินฝากเป็นระบบที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินโดยเฉพาะผู้ฝากรายย่อยซึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองประสบปัญหาและถูกปิดกิจการ ระบบประกันเงินฝากจะทำหน้าที่จ่ายเงินคืนผู้ฝากภายในวงเงินและระยะเวลาที่กำหนด อันจะช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงิน ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ระบบประกันเงินฝากยังลดภาระของภาครัฐในการเข้าแทรกแซงหรือช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา
จุดเริ่มต้นของการนำระบบประกันเงินฝากมาใช้ในประเทศต่างๆ มักเกิดจากการที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างรุนแรง จึงต้องมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝาก โดยการรับประกันว่าจะจ่ายคืนเงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้ฝากในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาและต้องเลิกกิจการ ทั้งนี้ สถาบันประกันเงินฝากในแต่ละประเทศอาจมีบทบาทและอำนาจหน้าที่แตกต่างกันไป บางประเทศสถาบันประกันเงินฝากจะทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินเป็นหลักขณะที่บางประเทศ สถาบันประกันเงินฝากสามารถทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา รวมถึงกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินด้วย
เพื่อสร้างหลักการสากลให้สถาบันประกันเงินฝากในประเทศต่างๆ ยอมรับและถือปฏิบัติซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของระบบประกันเงินฝาก International Association of Deposit Insurers (IADI)ในฐานะองค์กรกลางที่เชื่อมโยงสถาบันประกันเงินฝากในแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ได้ร่วมมือกับ Bank for International Settlement (BIS) ในการกำหนดหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล(Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) โดยพัฒนามาจากประสบการณ์จริงซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันประกันเงินฝากในประเทศที่มีบริบทแตกต่างกันได้
หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล ซึ่งได้รับการอนุมัติและนำออกเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2552 จำแนกได้เป็น 18 หัวข้อ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงนโยบายและเป้าหมายของระบบประกันเงินฝากไว้อย่างเหมาะสมและเป็นทางการ โดยวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบการเงินและคุ้มครองผู้ฝากเงิน
ควรบรรเทาปัญหาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยง หรือ Moral hazard โดยออกแบบระบบประกันเงินฝากอย่างเหมาะสม และมี Financial system safety net ทั้งนี้ ลักษณะของระบบประกันเงินฝากที่เหมาะสมได้แก่ การจำกัดวงเงินประกัน การไม่ประกันเงินฝากบางประเภท และการใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยง เป็นต้น
ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของสถาบันให้ชัดเจนและเป็นทางการเพียงพอในการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายและอำนาจความรับผิดชอบของสถาบัน
ควรมีอำนาจดำเนินการที่จำเป็นต่อการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อาทิ การหาแหล่งเงินเพื่อใช้จ่ายคืนเงินฝาก การทำสัญญา การตั้งงบประมาณเพื่อใช้บริหารกิจการภายใน และการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าสถาบันจะดำเนินการได้ตามที่ผู้ฝากเงินคาดหวัง และมีการกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ
ควรดำเนินงานด้วยความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองหรืออิทธิพลของธุรกิจสถาบันการเงิน
ควรมีการจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถาบัน หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน โดยข้อมูลควรมีความถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนคำนึงถึงการรักษาความลับของข้อมูลด้วย
ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สำคัญกับสถาบันประกันเงินฝากแห่งอื่น (บางประเทศมีสถาบันประกันเงินฝากหลายแห่ง) หรือหน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่มีสถาบันประกันเงินฝากมากกว่า 1 แห่ง จะต้องตกลงกันอย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายคืน แต่ต้องคำนึงถึงการรักษาความลับด้วย
สถาบันการเงินที่รับเงินฝากจากผู้ฝากรายย่อยควรเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันแบบภาคบังคับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Adverse selection
ควรกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และการกำหนดระดับวงเงินคุ้มครองควรครอบคลุมผู้ฝากส่วนใหญ่ในระบบ
ควรทำด้วยความรวดเร็ว เท่าที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศเอื้ออำนวย
สถาบันควรมีช่องทางในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายคืนผู้ฝากเงินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีเงินสำรองสภาพคล่องในยามจำเป็นโดยสถาบันการเงินมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเนื่องจากได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีระบบประกันเงินฝาก ทั้งนี้ระบบประกันเงินฝากที่เก็บเงินนำส่งตามความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (Risk-based) ควรมีหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่โปร่งใสสำหรับสถาบันการเงินสมาชิกทุกแห่ง
ระบบประกันเงินฝากจะมีประสิทธิผลที่ดีได้ ต้องมีการให้ความรู้กับสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์และข้อจำกัดของระบบประกันเงินฝากอย่างต่อเนื่องด้วย
สถาบันและพนักงานควรได้รับการปกป้องจากการถูกฟ้องร้องคดีทางกฎหมายจากการทำงานซึ่งตั้งอยู่บนความถูกต้องและเจตนาที่สุจริตอย่างไรก็ดี พนักงานก็ต้องปฏิบัติตามกฎ Conflict of interest และ Code of conduct ด้วย นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องความคุ้มครองทางกฎหมายแก่พนักงาน ซึ่งควรครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย
สถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการทำให้สถาบันการเงินล้ม
สถาบันควรมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน Financial safety net ในการตรวจสอบความผิดปกติของสถาบันการเงิน เพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไข สถาบันการเงินที่มีปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยควรมีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดก่อนว่าสถานการณ์ในลักษณะใดจึงถือว่าสถาบันการเงินกำลังมีปัญหาทางการเงินและต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา
การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินล้มอย่างมีประสิทธิผลนั้น ต้องอำนวยให้สถาบันสามารถจ่ายคืนเงินฝากได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีความเป็นธรรม ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และสามารถจัดการสินทรัพย์เพื่อให้ได้รับชำระคืนสูงสุด รวมทั้งสามารถดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้ว สถาบันหรือหนว่ ยงานที่มีอำนาจควรสร้างกลไกที่ยืดหยุ่นในการรักษาธุรกรรมการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันการเงินที่มีปัญหา โดยการหาสถาบันการเงินเข้ามารับช่วงสินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินที่ล้มด้วย
ควรมีการจ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝากได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสถาบันจะดำเนินการได้หากได้รับข้อมูลสถาบันการเงินที่มีปัญหาแต่เนิ่นๆ รวมทั้งมีการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการจ่ายคืนและกระบวนการจ่ายคืนไว้ชัดเจนนอกจากนี้แล้วผู้ฝากเงินควรได้รับข้อมูลว่าเมื่อไรที่จะขอรับเงินฝากคืนได้ ภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง
สถาบันควรได้ส่วนแบ่งจากการจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ล้ม ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ล้ม โดยพิจารณาทั้งในเชิงพาณิชย์และเศรษฐกิจควบคู่กันไป
เนื่องจากหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผลเป็นเพียงหลักการอย่างกว้าง ในระยะต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการวางแนวทางปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทดสอบและปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th