การแถลงนโยบายประจำปี 2553 (State of Union) ของประธานาธิบดีสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 13:34 —กระทรวงการคลัง

นายโอบามาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างงานและการวงรากฐานทางเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ตลอดจนมาตรการเพื่อปรับลดค่าประกันสุขภาพ และค่าเล่าเรียน

มาตรการทางการเงิน

ในส่วนของภาคการเงิน ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเงิน (Financial Reform Package) ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการสร้างงานและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินเพื่อการลงทุนแล้ว ยังเป็นช่องทางที่จะกระตุ้นให้ประชากรสหรัฐฯ นำเงินออกมาลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการปฏิรูประบบการเงินที่สำคัญประกอบไปด้วย การป้องกันผู้บริโภคและนักลงทุนจากการฉ้อโกงทางการเงิน (Financial Abuse) การปรับปรุงมาตรฐานและส่งเสริมความโปร่งใสในการกำกับดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ การป้องกันปัญหา Too Big to Fail ด้วยการจำกัดขนาดและขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ตลอดจนจัดทำกฎระเบียบการกำกับดูแลตลาดการเงินที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามา ได้เสนอให้มีการเรียกเก็บ Financial Crisis Responsibility Fee ซึ่งเป็นการบังคับให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่และสถาบันการเงินที่มีสัดส่วนหนี้สินที่ระดับสูงจ่ายคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แก่ผู้เสียภาษีสหรัฐฯ และจะเป็นการยับยั้งไม่ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งคงสัดส่วนหนี้สินที่ระดับสูงเกินไปอีกด้วย อนึ่ง กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี หรือจนกว่าสถาบันการเงินจะคืนเงินช่วยเหลือที่ได้รับภายใต้โครงการ TARP ทั้งหมด

มาตรการรับมือภาวะขาดดุลงบประมาณ

ในส่วนของมาตรการรับมือภาวะขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งมีการคาดการณ์ถึงปริมาณการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ในปี 2553 ที่อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.35 ล้านล้านเหรียญสรอ.นั้น ประธานาธิบดีโอบามาวางแผนที่จะชะลอการใช้จ่ายภาครัฐในการให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ (Discretionary Program) ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ การประกันสุขภาพ และสวัสดิการสังคม เป็นเวลาสามปี โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในปี 2554 ตลอดจนยกเลิกโครงการที่ใช้งบประมาณสูง แต่ไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามาสนับสนุนให้ยืดเวลาการบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีแก่ชนชั้นกลางซึ่งจะสิ้นสุดลงในปลายปี 2553 แต่จะไม่มีการยืดเวลาบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทน้ำมัน ผู้จัดการกองทุน และผู้ที่ทำรายได้เกิน 250,000 เหรียญสรอ. ต่อปี โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ่วม (Bipartisan Financial Commission) เพื่อจัดทำแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามา ได้ปรับลดงบประมาณภายใต้โครงการ TARP ลงกว่า 200 พันล้านเหรียญสรอ. เพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับการสร้างงานและการรับมือภาวะขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้วางมาตรการเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในภาคเอกชน มาตรการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการสร้างงานด้านพลังงานทดแทน (Green Jobs) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อีกด้วย

ในส่วนของการสร้างงานด้านพลังงานทดแทนนั้น จะครอบคลุมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางด้านพลังงาน และลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างชาติ โดยจะส่งเสริมการลงทุนในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) และส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มเติม

มาตรการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก

ทางการสหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้น โดยจะนำเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ TARP ที่สถาบันการเงินจ่ายคืนแล้ว รวมกว่า 30 พันล้านเหรียญสรอ. มาเป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปลอ่ยกู้ของธนาคารแก่ธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งนายโอบามาเห็นว่าปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยจะครอบคลุมการให้เครดิตภาษีแก่ธุรกิจขนาดเล็กเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน การยกเลิกภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) สำหรับการลงทุนในธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ จะมีการแถลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวต่อไป

มาตรการส่งเสริมการส่งออก

ประธานาธิบดีโอบามากำหนดเป้ามหายในการผลักดันให้ปริมาณการส่งออกขอองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในเวลา 5 ปี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการสร้างงานทางหนึ่ง โดยจะจัดทำมาตรการที่เรียกว่า National Export Initiative หรือ NEI เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กสามารถขยายตลาดเพิ่มและปริมาณการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ทางการสหรัฐฯ จะจัดตั้งกรมส่งเสริมการส่งออก (Export Promotion Cabinet) และให้เงินสนับสนุนโครงการส่งเสริมการส่งออกหลักๆ นอกจากนี้จะดำเนินการผลักดันข้อตกลงการค้าโดฮา หรือ Doha Trade Agreement เพื่อเปิดตลาดการค้า และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู้ค้าหลัก อาทิเช่น เกาหลีใต้ ปานามา และโคลอมเบีย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ จะมีการแถลงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ