รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 11, 2010 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 ก.พ. 2553

Summary:

1. สศอ.ชี้ศก.โลกฟื้นดันดัชนีอุตฯปี 53 ขยายตัว 6-8%

2. กนง. ไม่หวั่นปัญหาหนี้กรีซ ขย่มเศรษฐกิจโลก

3. จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง นำเยอรมันนี

Highlight:
1. สศอ. ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นดันดัชนีอุตสาหกรรมปี 53 ขยายตัวร้อยละ 6-8
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2553 ว่า มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 6-8 ต่อปี เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประเทศคู่ค้าสำคัญส่งคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต Hard disk drive การผลิตในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการผลิตยานยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทั้งสิ้น สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2553 จะขยายตัวถึงร้อยละ 3.9 ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวได้ตามที่ประเมินไว้
  • อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่เป็นผลกระทบเฉพาะประเด็นด้านการเมือง ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเด็นมาบตาพุด ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้เศรษฐกิจของไทยจะสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 30.7 ต่อปี เป็นผลทำให้ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ร้อยละ 11.5 ต่อปี หรือ 6.4 ต่อไตรมาส โดยขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อไตรมาส (ขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว) บ่งชี้ถึง ภาคการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในปี 53 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ
2. กนง. ไม่หวั่นปัญหาหนี้กรีซ ขย่มเศรษฐกิจโลก
  • รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงกรณีปัญหาหนี้สินของกรีซ ว่าคงไม่ได้มีผลอะไรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากกลุ่มประเทศโปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน (PIGS) มีอัตราส่วนเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจของโลกแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ การประชุมครั้งล่าสุดได้นำปัจจัยเหล่านี้เข้าพิจารณาในการจัดทำนโยบายการเงินด้วย แต่ว่าต้องติดตามดูอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมกนง.ครั้งต่อไป (10 มี.ค.) ก็จะนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับสูงของกลุ่ม PIGS สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่าอาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาของสหภาพยุโรป และบานปลายเป็นภาคต่อของวิกฤติการเงินโลกได้ โดยเฉพาะประเทศกรีซที่ขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 12.7 ต่อจีดีพี และมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงที่ร้อยละ 112.6 ได้ประกาศว่าจะไม่ขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ แต่จะใช้วิธีลดการใช้จ่ายงบประมาณ ประกอบกับมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ในการแก้ปัญหาแทน ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมผู้นำสหภาพยุโรป ในวันที่ 11 ก.พ. นี้ จะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศเหล่านี้
3. จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง นำเยอรมันนี
  • ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนบ่งชี้ว่าจีนได้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าการส่งออกของประเทศเยอรมันนี โดยที่มูลค่าการส่งออกของจีนในปี 2552 แตะระดับ 1,201.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่าการส่งออกของเยอรมันที่ระดับ 1,121.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของจีนที่สูง มาจากความต้องการสินค้าในประเทศขนาดใหญ่เช่นประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐ ที่มีสัดส่วนการส่งออกในปี 52 คิดเป็นร้อยละ 21.8 และ 18.3 ต่อมูลค่าการส่งออกจีนทั้งหมด ตามลำดับ โดยจีนมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ สินค้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขนส่ง และวัสดุอุปกรณ์โรงงาน นอกจากนี้ การส่งออกของจีนมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 53 มูลค่าการส่งออกของจีนขยายตัวที่ร้อยละ 21 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี สำหรับประเทศไทย จีนได้ถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยไทยได้ส่งออกไปยังจีนในปี 2552 มีสัดส่วนที่ร้อยละ 10.6 ต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งขยายตัวร้อยละ 54.2 ต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี ในปี 52 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไทยที่หดตัวกว่าร้อยละ -14.2 ในปี 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ