รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2010 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ก.พ. 2553

Summary:

1. แบงก์เตือนครึ่งหลังเศรษฐกิจแผ่ว ผวาการเมืองชนวนวิกฤตซ้ำ

2. ตลาดรถจักรยานยนต์เดือนม.ค.53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

3. เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

Highlight:
1. แบงก์เตือนครึ่งหลังเศรษฐกิจแผ่ว ผวาการเมืองชนวนวิกฤตซ้ำ
  • นายแบงก์เตือนเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงโดยเฉพาะในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน โดยมีสาเหตุสำคัญจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป ยังมีปัญหารุมเร้า แบกภาระหนี้เสียสถาบันการเงิน รวมถึงมาตรการการคลังจากทั่วโลกที่เริ่มแผ่วลง ทั้งนี้ ปัจจัยการเมืองจะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยจะเป็นการฉุดกำลังซื้อภายในประเทศ และส่งผลให้เกิดการหดตัวของภาคการลงทุน ขณะที่ภาครัฐบาลไม่สามารถวางนโยบายระยะยาวได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอันได้แก่ ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงในกลุ่มประเทศยุโรปใต้ และปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน นอกจากนี้ นโยบายการเงินในหลายประเทศเริ่มมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่อาจจะเพิ่มขึ้น รวมถึงจีนที่ได้เพิ่มอัตราเงินสดสำรองทางกฎหมาย ทั้งนี้ ยูโรโซน สหรัฐฯ และจีนมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 32 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย หากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวชะลอลงย่อมส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตาม นอกจากความเสี่ยงจากภายนอก เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาในภาคการลงทุนจากกรณีของมาบตาพุด และปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0 ต่อปี) จากปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี
2. ตลาดรถจักรยานยนต์เดือนม.ค.53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39
  • กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือนม.ค. 2553 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์โดยรวม อยู่ที่ 153,312 คัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็นรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 75,930 คัน รถจักรยานยนต์เอที 70,365 คัน และอื่นๆ 7,017 คัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่อง (ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน) สะท้อนให้เห็นถึงประชาชนในระบบฐานรากมีกำลังซื้อสูงขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูงส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยในเดือนม.ค.53 รายได้เกษตรกร(Nominal Farm Income) ขยายตัวที่ร้อยละ 21.0 ต่อปี (ซึ่งขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันเช่นกัน) ทั้งนี้ คาดว่าในระยะต่อไป รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปี 53
3. เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน
  • เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq ) หรือหดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้ทั้งปี 52 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน (EU 16) ในไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.1(%qoq) หรือหดตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง และเศรษฐกิจของเยอรมันที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและยุโรปในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 แม้ว่าจะเป็นตัวเลขเบื้องต้น แต่ก็บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในของทั้งสองกลุ่มประเทศว่ายังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง ทำให้ยังคงมีความจำเป็นที่รัฐบาลของทั้ง 2 กลุ่มประเทศจะต้องดำเนินมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการจ้างงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ยุโรปมีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณด้านการคลัง เนื่องจากภาวะหนี้สาธารณะในระดับสูงของบางประเทศ เช่นกรีซ จะเป็นปัจจัยให้ต้นทุนของการกู้ยืมของรัฐบาลยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ